×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

3 สัญญาณ...ส่งผลต่อราคาทองคำ

4,274

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

ในปี 2563 ราคาทองคำปรับขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 2,075 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่สินทรัพย์ลงทุนอื่น ๆ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยปัจจุบันทองคำก็ยังได้รับความนิยม เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีความสามารถในการป้องกันความเสี่ยงในรูปแบบต่าง ๆ ได้ เช่น ความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ภาวะเศรษฐกิจหดตัว ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะทองคำเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวเองอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้การลงทุนในทองคำสามารถกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน และยังนำไปใช้สร้างผลกำไรหากจับจังหวะซื้อขายได้ถูกทาง

 

อย่างไรก็ตาม ทองคำก็มีความเสี่ยงจึงต้องทำการวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางราคาทองคำ โดยหลัก ๆ แล้ว ควรพิจารณาปัจจัยใน 3 สัญญาณ ดังนี้

 

สัญญาณระยะยาว

 

นักลงทุนควรพิจารณาราคาทองคำย้อนหลังในอดีตไปประมาณ 7-10 ปี เพื่อเห็นภาพทิศทางราคาทองคำที่แม่นยำมากขึ้น ตัวอย่างเช่น สถิติราคาทองคำ 7 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงต้นปี 2564 พบว่าราคาทองคำ (Gold Spot) มีระดับต่ำสุดของแต่ละปีสูงขึ้นเรื่อย ๆ (ภาษาในตลาดทองคำเรียกว่า การยกฐานราคาในระดับต่ำสุดขึ้น) ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้นักวิเคราะห์ทองคำทั่วโลกประเมินว่าทิศทางราคาทองคำยังเป็นขาขึ้นในระยะยาวค่อนข้างชัดเจน

 

โดยสภาทองคำโลก ได้อธิบายถึงปัจจัยที่ทำให้ทิศทางราคาทองคำจะยังคงเป็นขาขึ้นต่อไป นั่นคือ ในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมา ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีราคาผันผวนน้อย ขณะเดียวกันก็ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสม่ำเสมอ ประกอบกับนักลงทุนยังคงมองว่าการลงทุนในสินทรัพย์อื่นยังคงมีความเสี่ยงสูง ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำและเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว จึงทำให้กระแสเงินลงทุนไหลเข้าสู่ตลาดทองคำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความต้องการจากผู้บริโภคชาวจีนแลคำะอินเดีย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยบวกต่อทิศทางราคาทองคำทั้งสิ้น

 

สำหรับนักลงทุนที่กำลังตัดสินใจลงทุนหรือว่าถือทองคำอยู่แล้วและเน้นลงทุนระยะยาว ยังสามารถลงทุนและถือต่อไปได้ โดยพฤติกรรมการลงทุนทองคำในระยะยาวจะลงทุนตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป (มากกว่า 2 ไตรมาส) หรืออาจถือข้ามปี ซึ่งกลยุทธ์ในการลงทุน ก็คือ ทยอยซื้อในช่วงต้นปีหรือช่วงตรุษจีน จากนั้นให้ถือและรอจังหวะทยอยขายในช่วงปลายไตรมาส 3 หรือ ก่อนสิ้นปี นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มนักลงทุนทองคำที่ทยอยลงทุนไปเรื่อย ๆ และถือเป็นระยะเวลาหลายปีหรือสะสมเพื่อเป็นมรดก เพราะเชื่อว่าการถือทองคำเกิน 10 ปี จะมีแต่กำไร

 

สัญญาณระยะปานกลาง

 

นักลงทุนควรพิจารณาราคาทองคำเป็นรายไตรมาส โดยสถิติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าราคาทองคำมักปรับขึ้นสู่ระดับสูงสุดของปี ในช่วงไตรมาส 3 และราคาจะปรับลดลงเมื่อเข้าสู่ไตรมาส 4 และไตรมาส 1 ของปีถัดไป เช่น ราคาปรับขึ้นไปที่ระดับ 2,075 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2563 หลังจากนั้นราคาเริ่มอ่อนตัวลง และล่าสุดไตรมาส 1 ปี 2564 ราคาทองคำอ่อนตัวลงสู่ระดับ 1,767 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ และปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดที่บริเวณ 1,676 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ และเมื่อเข้าสู่ไตรมาส 2 ราคาก็จะมีสัญญาณค่อย ๆ ปรับขึ้น โดยประเมินว่าในไตรมาส 3 ปีนี้ ราคาทองคำก็จะปรับขึ้นไปทำระดับสูงสุดของปีเหมือนภาพในอดีต

 

หากมองจากปัจจัยพื้นฐานจะพบว่า ช่วงต้นปีนักลงทุนเริ่มคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวอย่างชัดเจนหลังจากวัคซีน COVID-19 มีประสิทธิภาพ จึงเห็นการปรับประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถือเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาทองคำ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) อ่อนตัวลง

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากการแพร่ระบาด COVID-19 รอบล่าสุด นักลงทุนประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะฟื้นตัวในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับ มาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลก จะไม่เปลี่ยนแปลงในช่วงครึ่งปีหลัง จึงเริ่มเห็นการเปลี่ยนทิศทางของราคาทองคำที่มีสัญญาณฟื้นตัวขึ้น จากแนวโน้มที่จะยังคงมีเม็ดเงินถูกอัดฉีดเข้ามาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลผลักดันให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้น

 

สำหรับนักลงทุนทองคำในระยะปานกลางจะเน้นลงทุนเป็นรายเดือนและไม่เกิน 3 เดือน (1 ไตรมาส) โดยพยายามจับจังหวะการแกว่งตัวของราคาทองคำเพื่อหาจังหวะซื้อและขายเพื่อทำกำไร ซึ่งกลยุทธ์ในการลงทุน ก็คือ รอจังหวะลงทุนเมื่อเห็นราคาทองคำอ่อนตัวลง และรอขายทำกำไรเมื่อราคาเริ่มปรับขึ้น

 

สัญญาณระยะสั้น

 

นักลงทุนจะวิเคราะห์ราคาทองคำเป็นรายวันด้วยการพิจารณาราคาสินทรัพย์อื่น ๆ ประกอบ เพื่อดูทองคำกับสินทรัพย์อื่น ๆ ว่ามีความเคลื่อนไหวด้านราคาอย่างไร โดยจะพิจารณาใน 2 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยที่ส่งผลไปในทิศทางตรงข้ามกับราคาทองคำ และปัจจัยที่ส่งผลไปในทิศทางเดียวกันกับราคาทองคำ

 

ตัวอย่าง ปัจจัยระยะสั้นที่ส่งผลไปในทิศทางตรงข้ามกับราคาทองคำ

 

  • ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา

 

หากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับขึ้น ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากตลาดหุ้นเป็นสินทรัพย์เสี่ยง ขณะที่ทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ราคาจึงเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้าม

 

  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล

 

จะพิจารณาจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอายุ 10 ปี ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สะท้อนภาวะเศรษฐกิจและทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินและตลาดทุนของสหรัฐฯ หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอายุ 10 ปีปรับขึ้น ส่วนใหญ่ค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นตามไปด้วย รวมทั้งนักลงทุนประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะเติบโตและอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น ก็จะส่งผลให้ราคาทองคำปรับลดลง เนื่องจากทองคำไม่มีผลตอบแทนอยู่ในรูปของดอกเบี้ย ดังนั้น เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้น การลงทุนในทองคำจึงถูกลดความน่าสนใจลง

 

  • ค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ

 

จะมีความสัมพันธ์ในเชิงลบกับราคาทองคำโลก กล่าวคือ ถ้าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลสำคัญของโลก เช่น เงินยูโร เงินเยน หรือพิจารณาจาก US Dollar Index ก็ได้เช่นกัน ราคาทองคำโลกจะสูงขึ้น เพราะราคาทองคำซื้อขายเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อค่าเงินดอลลาร์อ่อนลง ทองคำจะมีราคาถูกลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นที่นักลงทุนถือไว้ จึงสร้างแรงซื้อเข้ามาดันให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

 

ตัวอย่าง ปัจจัยระยะสั้นที่ส่งผลไปในทิศทางเดียวกันกับราคาทองคำ

 

  • สกุลเงิน

 

ได้แก่ สกุลเงินยูโร เงินปอนด์ เงินหยวน โดยหากค่าเงินทั้งสามสกุลนี้ปรับขึ้น ราคาทองคำจะปรับขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากสกุลเงินเหล่านี้จะไปกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง

 

  • ระดับราคาน้ำมัน

 

เนื่องจากน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้เกิดเงินเฟ้อได้ในลักษณะของ Cost Push Inflation ดังนั้น หากราคาน้ำมันสูงขึ้น ราคาทองคำก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ น้ำมันและทองคำยังอยู่ในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะมีการปรับตัวขึ้นสอดคล้องกันในภาวะสงคราม หรือ มีความตึงเครียดระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น เวลาที่นักลงทุนในต่างประเทศซื้อขายน้ำมันก็จะซื้อขายทองคำด้วย

 

ดังนั้น นักลงทุนที่ลงทุนทองคำในระยะสั้นต้องติดตามข้อมูลข่าวสารเป็นรายวัน โดยเฉพาะการประกาศตัวเลขที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา รวมถึงความเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ เพื่อประเมินทิศทางราคาทองคำในช่วงเวลานั้น

 

อาจมีคำถามหรือข้อสงสัยว่าทองคำ เหมาะกับการลงทุนในระยะสั้นหรือไม่ แต่ยังมีนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่นิยมลงทุน โดยเฉพาะผู้ที่มีเงินเย็นและรับความเสี่ยงได้ค่อนข้างสูงก็จะเข้ามาซื้อและขายเมื่อเห็นว่าได้กำไร แต่หากซื้อแล้วตลาดไม่เป็นใจก็สามารถถือต่อไปได้

 

โดยในปัจจุบัน นอกจากการลงทุนในทองคำแท่งและทองรูปพรรณที่นักลงทุนคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ยังมีทางเลือกลงทุนทองคำในรูปแบบอื่นที่น่าสนใจและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เช่น การลงทุนทองคำในตลาดอนุพันธ์ สำหรับมือใหม่หัดเทรดฟิวเจอร์สหรือออปชัน แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์อย่างไร รวมถึงการวางหลักประกัน กลยุทธ์การลงทุน และข้อควรระวังของการลงทุนในอนุพันธ์ เพื่อให้ได้กำไรทั้งในภาวะตลาดขาขึ้นและขาลง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning กลุ่มหลักสูตร “ลงทุนอนุพันธ์ฉบับมือใหม่” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือสำหรับนักลงทุนที่อยากจะเรียนรู้การลงทุนทองคำใน TFEX Gold-D ตลอดจนปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาทองคำ และกลยุทธ์การลงทุน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนตัดสินใจลงทุนจริง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “รอบรู้ลงทุน TFEX Gold-D” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats