เปรียบเทียบมาตรฐานประกันสุขภาพ ปี 2549 VS ปี 2564
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ในบรรดาค่าใช้จ่ายที่จำเป็น หากถามว่าค่าใช้จ่ายตัวไหนบริหารยากสุด คำตอบก็คงเป็น ค่ารักษาพยาบาล เพราะเป็นค่าใช้จ่ายประเภทไม่รู้เงิน ไม่รู้เวลา คือ ไม่รู้ว่าจะต้องจ่ายเมื่อไหร่ และไม่รู้ว่าจะต้องจ่ายเท่าไหร่ และยิ่งกว่านั้นก็คือ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมักจะสูงมากในช่วงที่เราไม่มีรายได้ อย่างเช่น ช่วงบั้นปลายชีวิต เป็นต้น การซื้อประกันสุขภาพเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งในการบริหารความเสี่ยงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เป็นการเปลี่ยนรูปแบบค่าใช้จ่ายจากกไม่รู้เงิน ไม่รู้เวลาเป็น รู้เงิน รู้เวลา คือ รู้ว่าต้องชำระเบี้ยประกันสุขภาพเท่าไหร่และเมื่อไหร่ ซึ่งทำให้เราสามารถบริหารค่ารักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้น
แต่จากที่ผ่านมา ประกันสุขภาพซึ่งดำเนินการตามมาตรฐานปี 2549 มีหลายประเด็นที่ปัญหา เช่น
- ไม่มีรูปแบบการนำเสนอข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน ทำให้เปรียบเทียบได้ยากว่าประกันสุขภาพแบบใดเหมาะสมกับผู้ต้องการซื้อมากกว่ากัน
- บริษัทประกันมีสิทธิไม่ต่ออายุในรอบปีกรมธรรม์ถัดไป หรือ คิดเบี้ยที่แพงขึ้น เพื่อให้ผู้เอาประกันที่จ่ายเบี้ยประกันมาตลอด แต่เพิ่งมาป่วย ไม่ได้รับการคุ้มครอง หรือหากต้องการคุ้มครองก็ต้องจ่ายเบี้ยแพงมาก จนทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างผู้เอาประกันกับบริษัทประกันมากมาย
ดังนั้นเพื่อให้การคุ้มครองของประกันสุขภาพเป็นไปอย่างยุติธรรมมากขึ้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้มีคำสั่งนายทะเบียนที่ 14/2564 เรื่อง หลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบแบบและข้อความสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพ ประเภทสามัญ แบบมาตรฐานสำหรับบริษัทประกันชีวิต และคำสั่งนายทะเบียนที่ 15/2564 เรื่อง หลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันสุขภาพส่วนบุคคล แบบมาตรฐานสำหรับบริษัทประกันวินาศภัย (ในที่นี้ขอเรียกว่า มาตรฐานการประกันภัยสุขภาพใหม่ New Health Standard) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป ซึ่งมีประเด็นแตกต่างระหว่างมาตรฐานปี 2549 กับ ปี 2564 ที่สำคัญหลายประเด็น
มีประกันสุขภาพเดิม จะต้องยกเลิกหรือไม่ยกเลิกดี
บริษัทประกันจะปรับใช้มาตรฐานใหม่ทั้งหมดภายในวันที่ 8 พ.ย. 64 นี้ แต่ถ้าผู้เอาประกันที่ซื้อประกันสุขภาพแบบเก่าต่ออายุประกันสุขภาพแบบเก่าไปเรื่อยๆ ก็ได้ แต่ถ้าอยากได้ประกันสุขภาพตามมาตรฐานใหม่ก็ต้องทำใหม่
ข้อควรคำนึงสำหรับการทำประกันสุขภาพแบบใหม่
- ระยะเวลารอคอยต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ถ้าอยากให้มีความคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง ควรทำประกันสุขภาพแบบใหม่ก่อนอย่างน้อยให้เลยระยะเวลารอคอยที่นานที่สุด คือ 120 วัน เพื่อให้มั่นใจว่าได้รับความคุ้มครองอย่าง 100% จึงดำเนินการยกเลิกฉบับเก่า
- การทำประกันสุขภาพใหม่ (ไม่ว่าจะแบบเดิมหรือแบบมาตรฐานใหม่) จะไม่คุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อนการเอาประกัน เว้นแต่ผู้เอาประกันภัยได้แถลงให้บริษัททราบและบริษัทยินยอมรับความเสี่ยงภัย โดยไม่มีเงื่อนไขยกเว้นความคุ้มครองดังกล่าว ดังนั้น หากมีโรคประจำตัวไปแล้ว ไม่ควรยกเลิกประกันสุขภาพแบบเดิม
ซื้อประกันสุขภาพแบบใหม่ พร้อมทั้งต่ออายุประกันสุขภาพแบบเดิมด้วยดีหรือไม่
ของฟรีไม่มีในโลก ทั้งการซื้อประกันสุขภาพแบบใหม่ และต่ออายุประกันสุขภาพแบบเดิมก็ต้องชำระเบี้ยด้วยกันทั้งคู่ นอกจากนี้การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะจ่ายตามความเสียหายเป็นจริงเท่านั้น ดังนั้นหากเราซื้อประกันสุขภาพแบบใหม่และประกันสุขภาพแบบเดิมที่มีความคุ้มครองแบบเดียวกัน หากความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่เกินวงเงินความคุ้มครองของประกันแบบใดแบบหนึ่ง เท่ากับเราไม่ได้ใช้ประโยชน์ความคุ้มครองของประกันอีกแบบเลย เรียกง่ายๆ เราซื้อประกันเยอะเกินไป (Over-insured) เว้นแต่ว่าเราซื้อเฉพาะความคุ้มครองที่ประกันสุขภาพแบบเดิมไม่คุ้มครอง เพื่อขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมตามที่เราต้องการ น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า