เปิดเคล็ด (ไม่) ลับ “ลงทุน ETF ต่างประเทศ”
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ปัจจัยหลัก ๆ ที่ ETF กลายเป็นขวัญใจนักลงทุน คือ เป็นเครื่องมือการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนหรือต้องการลงทุนอ้างอิงดัชนีใดดัชนีหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีสินทรัพย์ให้เลือกลงทุนอย่างหลากหลาย เช่น หุ้น (Equity ETF), กลุ่มอุตสาหกรรม (Sector ETF, Thematic ETF), ตราสารหนี้ (Bond ETF), สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity ETF) และ ETF ที่อ้างอิงสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency ETF) แปลว่า ETF เพียง 1 กอง เหมือนซื้อสินทรัพย์ประเภทนั้นหลากหลาย เช่น Equity ETF ก็เหมือนนักลงทุนได้ซื้อหุ้นหลายตัวในเวลาเดียวกัน
นอกเหนือจากนี้ เนื่องจาก ETF มีลักษณะคล้ายหุ้นบวกกองทุนรวม จึงสามารถซื้อขายแบบ Real Time ไม่ต่างจากหุ้นตัวหนึ่ง จึงรู้ราคาได้ทันที ต่างจากการซื้อขายกองทุนรวมที่ต้องราคา NAV ณ สิ้นวัน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก ETF ที่ซื้อขายบนกระดานหุ้นไทยมีเพียง 11 กอง ทำให้นักลงทุนมีตัวเลือกค่อนข้างจำกัด ที่สำคัญมีสภาพคล่องน้อย ทำให้กังวลว่าเมื่อซื้อไปแล้วและถ้าต้องการขายอาจใช้เวลาในการรอ ทำให้ผู้ที่ต้องการลงทุน ETF มีทางเลือกอีกทาง คือ การลงทุน ETF ต่างประเทศ
หากสนใจลงทุน ETF ต่างประเทศ มี 3 ทางหลัก ทางแรก คือ ลงทุนผ่าน บลจ.ที่ออกกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน ETF ในต่างประเทศ ถัดมา คือ ลงทุนผ่านโบรกเกอร์ที่ให้บริการลงทุนต่างประเทศ และลงทุนผ่านแพลตฟอร์มบริหารการลงทุน
โดยสองทางเลือกแรก นักลงทุนคุ้นเคยกันดี ส่วนการลงทุน ETF ผ่านแพลตฟอร์มบริหารการลงทุนถือว่าเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่กับนักลงทุนไทย โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย แต่ถือว่าเป็นช่องทางมาแรง ด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น สะดวก รวดเร็ว ตัวเลือกเยอะ ออกแบบจัดพอร์ตให้เสร็จสรรพ รวมถึงค่าธรรมเนียมค่อนข้างต่ำ
ยกตัวอย่างเช่น StashAway แพลตฟอร์มให้บริการลงทุน ETF ทั่วโลก ที่มีโครงสร้างค่าธรรมเนียมการจัดการเป็นแบบขั้นบันได หมายความว่าเมื่อลงทุนมากขึ้น ค่าธรรมเนียมจะลดต่ำลง ขณะที่ Jitta Wealth มีนโยบายเก็บค่าบริหารจัดการ 0.5% ต่อปี ขณะที่ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เป็นต้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการไปลงทุนต่างประเทศนั้น นักลงทุนต้องมีต้นทุนสูงกว่าการลงทุนในประเทศ หลัก ๆ ก็มีภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งในส่วนของภาษีที่ต้องจ่ายส่วนใหญ่มักขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศ ดังนั้น หากนักลงทุนต้องการประหยัดต้นทุนก็ต้องมองหาผู้ให้บริการที่มีค่าธรรมเนียมอยู่ในระดับต่ำ เพราะปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ลงทุนไปแล้วได้รับผลกำไรเพิ่มขึ้น ก็คือ ค่าธรรมเนียมต่ำ
StashAway อธิบายว่าค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เมื่อนำมารวมกันในระยะยาวอาจทำให้ผลตอบแทนของนักลงทุนลดลงอย่างมาก ดังนั้น การรักษาค่าธรรมเนียมให้ต่ำจะทำให้นักลงทุนได้รับประโยชน์สูงสุด เช่นเดียวกับ Jitta Wealth บอกว่าค่าธรรมเนียมยิ่งต่ำ ผลกำไรยิ่งทบต้น
เคล็ดลับเริ่มต้นลงทุน ETF ต่างประเทศ (ที่มา บล.บัวหลวง)
- เลือกประเทศที่น่าลงทุน ศึกษาข้อมูลด้านเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ เช่น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงาน นโยบายเศรษฐกิจต่าง ๆ ข้อมูลด้านตลาดหุ้น
- สำรวจว่าตัวเองเหมาะกับการลงทุน ETF หรือไม่ เพราะ ETF เหมาะกับผู้ที่ต้องการกระจายความเสี่ยงการลงทุน ต้องการลงทุนตามดัชนี และไม่ค่อยมีเวลาติดตามข่าวสารของบริษัทสม่ำเสมอ
- แหล่งข้อมูลการลงทุนต่างประเทศ ถึงแม้ว่า ETF จะเหมาะกับผู้ที่ไม่ค่อยมีเวลาติดตามข่าวสาร แต่ทุกการลงทุนก็ต้องติดตามข้อมูล จึงต้องอัพเดทข้อมูลข่าวสารให้ทันต่อสถานการณ์ผ่านแหล่งข่าวระดับสากลและน่าเชื่อถือ
- อัตราแลกเปลี่ยน อย่าลืมว่าการนำเงินไปลงทุนต่างประเทศ จำเป็นต้องทำการแลกเปลี่ยนค่าเงินจากสกุลบาทเป็นสกุลเงินต่างประเทศ จึงต้องทราบว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะมีผลกระทบต่อการลงทุนอย่างไรบ้าง
- ความเสี่ยงเฉพาะบางประเทศ หมายถึงความเสี่ยงจากการลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งจะมีระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป จึงต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น การเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติ