หนีภาษี อันตรายกว่าที่คิด
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ใกล้ปลายปีก็ถึงเทศกาลภาษีที่หลายคนเริ่มมองหาค่าลดหย่อนภาษีกัน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ RMF, SSF หรือประกันชีวิต ฯลฯ เป้าหมายก็คือ การเสียภาษีให้ต่ำที่สุด ซึ่งก็เป็นการวางแผนภาษีที่ถูกกฎหมาย แต่ก็มีหลายคนที่เลือกใช้วิธีง่ายๆ คือ ไม่จ่ายภาษีเอาดื้อๆ เพราะ
คิดว่าสรรพากรไม่รู้ ใครคิดแบบนี้ขอให้คิดใหม่นะ สรรพากรนับเป็นองค์กรรัฐที่มีการพัฒนาด้าน digital สูงมากจนคว้า 2 รางวัลในงานรางวัล DG Awards 2020 แถมสรรพากรยังมีการออกกฎหมายใหม่ๆมามากมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี เช่น กฎหมายธุรกรรมลักษณะเฉพาะ (กฎหมาย e-payment) ที่ให้สถาบันการเงินต้องรายงานข้อมูลบุคคลที่มีธุรกรรมเฉพาะให้แก่กรมสรรพากร คือ มียอดฝากหรือโอนเงินเข้าทุกบัญชี 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไป หรือมียอดฝากหรือโอนเงินทุกบัญชีตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปี และมียอดเงินรวมตั้งแต่ 2,000,000 บาทต่อปีขึ้นไป ฯลฯ ทุกวันนี้สรรพากรมีข้อมูลเงินได้ของพวกเราหมดแล้ว โอกาสจะรอดหูรอดตาสรรพากรยากมาก
นึกไปเองว่าถ้าสรรพากรตรวจพบก็แค่เสียภาษีเท่านั้น จริงๆแล้ว ความเสียหายจากการไม่เสียภาษีอากรให้แก่กรมสรรพากรนั้นมีมากกว่าแค่เสียภาษีคืนมาก
ความเสียหายจากการหนีภาษี เราสามารถแยกพิจารณาได้เป็น 3 กรณี
ก่อนสรรพากรฟ้องศาล
ถ้าถูกสรรพากรตรวจพบต้องเสียเงินเพิ่มให้สรรพากรในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนและอาจโดนเบี้ยปรับ 1 -2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระอีกด้วยถ้าไม่ยอมชำระภาษี กรมสรรพากรก็ยังสามารถยึดหรืออายัดทรัพย์และขายทอดตลาดได้เลย โดยยังไม่ต้องฟ้องต่อศาลก่อนก็ได้ และระยะเวลาที่มีอํานาจทําได้ก็เป็นเวลานานถึง 10 ปี และหากในระหว่างนี้ทําการยักย้ายทรัพย์สินก็อาจจะมีความผิดอาญาเพิ่มขึ้นไปอีกฐานมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอาจติดคุกได้
สรรพากรฟ้องศาล
ถ้าผู้ค้างภาษีอากรยังดื้อไม่ยอมชําระหนี้ภาษีอากรค้าง สรรพากรก็สามารถนําคดีมาฟ้องต่อศาลต่อไปได้ เช่น
- ฟ้องที่ศาลภาษีอากรกลาง สำหรับกรณีสรรพากรเลือกฟ้องเพราะไม่สามารถเร่งรัดเรียกหนี้ภาษีอากรค้างได้แล้ว
- ฟ้องที่ศาลเดียวกับลูกหนี้ถูกฟ้องเกี่ยวกับทรัพย์ที่ขายทอดตลาด เช่น ศาลแพ่ง ศาลจังหวัด ฯลฯ โดยสรรพากรสามารถเข้าไปขอเฉลี่ยหนี้ได้
- ฟ้องที่ศาลล้มละลายกลาง กรณีหนี้เข้าหลักเกณฑ์ฟ้องได้ (กฎหมายล้มละลายกำหนดเงื่อนไขการฟ้องล้มละลายได้ คือ
-
- กรณีเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท
-
- นิติบุคคลเป็นเจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท
แม้ว่าเมื่อครบ 3 ปีนับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย จะถูกปลดจากการล้มละลายโดยอัตโนมัติทันที โดยผลของกฎหมายการปลดจากการล้มละลายจะส่งผลให้บุคคลล้มละลายนั้นหลุดพ้นจากหนี้สินทั้งปวงด้วยก็ตาม แต่ก็ยกเว้นหนี้สินที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร ดังนั้นสรรพากรยังตามทวงหนี้ได้อยู่
หลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว
เมื่อศาลภาษีอากรกลางมีคําพิพากษาให้สรรพากรชนะคดีแล้ว สรรพากรก็สามารถบังคับคดีได้ตามกฎหมายได้อีกเป็นระยะเวลา 10 ปี และหากในระหว่างนั้นยังไม่ได้รับชําระภาษีอากรครบถ้วนและยังเข้าหลักเกณฑ์ที่จะฟ้องล้มละลายได้กรมสรรพากรก็ยังสามารถนําหนี้ภาษีอากรนั้นมาฟ้องยังศาลล้มละลายกลางได้อีกครั้งหนึ่ง หากผู้ค้างภาษีอากรถึงแก่ความตายทายาทที่รับมรดกก็จะต้องนํามรดกที่ได้รับมาเสียภาษีอากรให้ครบถ้วนด้วย
สรุปสุดท้ายด้วยวลียอดฮิต “Nothing is certain except for death and taxes.” ของ Benjamin Franklin ที่แปลว่า ”ไม่มีอะไรที่แน่นอนเท่าความตาย และ ภาษี” ดังนั้นวิธีวางแผนภาษีที่ดีที่สุด คือ การเสียภาษีอย่างถูกกฎหมาย