เงินเฟ้อ 7% – 1O% เงินหายไปเท่าไหร่?
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยอัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนปี 2565 อยู่ที่ 7.66% นับเป็นอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2551 ที่อยู่ระดับ 9.20% และประเมินกันว่าจะเห็นราคาสินค้าและบริการปรับเพิ่มขึ้นในเร็ว ๆ นี้ และแน่นอนจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนไทยที่ต้องเผชิญกับค่าครองชีพแซงหน้ารายได้
เงินเฟ้อ คือ การวัดว่าราคาของสินค้าและบริการ เพิ่มขึ้นเท่าไรเมื่อเวลาผ่านไป โดยทั่วไปจะวัดเงินเฟ้อโดยการเปรียบเทียบราคาของสินค้าและบริการในวันนี้กับราคาในอดีต โดยค่าเฉลี่ยของการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ เรียกว่า “อัตราเงินเฟ้อ” เช่น หากอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% แปลว่าราคาโดยเฉลี่ยในปัจจุบันสูงกว่าราคาในปีที่แล้วอยู่ 3% เช่น ข้าวสารหนึ่งถุงราคา 100 บาทในปีที่แล้ว วันนี้ราคาเพิ่มเป็น 103 บาท แปลว่าราคาเพิ่มขึ้น 3%
เมื่อเกิดสภาวะเงินเฟ้อ ราคาข้าวของแพงขึ้น สิ่งที่ตามมา คือ ผู้คนมีความกังวลต่อฐานะทางการเงินของตัวเอง เพราะเงินจำนวนเท่าเดิมจะไม่สามารถซื้อสินค้าและบริการได้ในปริมาณเท่าเดิม หมายความว่า ถ้าต้องการได้ในปริมาณเท่าเดิมก็ต้องใช้เงินเพิ่มสูงขึ้นสะท้อนว่า อัตราเงินเฟ้อทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น หมายความว่า ยิ่งเงินเฟ้อสูงขึ้นเท่าไหร่ ภาระค่าครองชีพก็ยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น หรือยิ่งเงินเฟ้อสูงเท่าไหร่ มูลค่าเงินก็ยิ่งลดลงมากตามเท่านั้น
อาจมีคำถามตามมาว่า ถ้าวันนี้เงิน 100 บาท ในปีถัดไปจะมีมูลค่าเหลือเท่าไหร่ สมมติว่าถ้าเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อปีเป็น 0% มูลค่าเงินก็จะเท่าเดิม คือ 100 แต่ถ้าเงินเฟ้อเฉลี่ย 1% ต่อปี อีก 1 ปีข้างหน้าเงิน 100 บาทจะเหลือมูลค่า 99 บาท ถ้าเงินเฟ้อเฉลี่ย 5% ต่อปี จะเหลือ 95 บาท ถ้าเงินเฟ้อเฉลี่ย 7% ต่อปี จะเหลือ 93 บาท และถ้าเงินเฟ้อเฉลี่ย 10% ต่อปี จะเหลือ 91 บาท
ถ้าวันนี้เงิน 100 บาท อีก 5 ปีข้างหน้า ถ้าเงินเฟ้อเฉลี่ย 1% ต่อปี จะเหลือมูลค่า 95 บาท ถ้าเงินเฟ้อเฉลี่ย 5% ต่อปี จะเหลือ 78 บาท บาท ถ้าเงินเฟ้อเฉลี่ย 7% ต่อปี จะเหลือ 71 บาท และถ้าเงินเฟ้อเฉลี่ย 10% ต่อปี จะเหลือ 62 บาท เช่นกันอีก 10 ปีข้างหน้า ถ้าเงินเฟ้อเฉลี่ย 1% ต่อปี จะเหลือมูลค่า 91 บาท ถ้าเงินเฟ้อเฉลี่ย 5% ต่อปี จะเหลือ 61 บาท บาท ถ้าเงินเฟ้อเฉลี่ย 7% ต่อปี จะเหลือ 51บาท และถ้าเงินเฟ้อเฉลี่ย 10% ต่อปี จะเหลือ 39 บาท
เมื่อเงินเฟ้อได้ส่งผลกระทบต่อมูลเงิน จึงกลายเป็นก้างขวางคอในการเก็บเงินเพื่อเตรียมไว้ใช้ตอนแก่เฒ่า
สมมติว่านาย ก. อายุ 55 ปี มีเงินเก็บสำหรับวัยเกษียณ 10,000,000 บาท และมีเป้าหมายว่าจะเกษียณอายุ 60 ปี แต่ลืมไปว่าเงิน 10,000,000 บาทคิดเทียบเป็นมูลค่าวันนี้ ไม่ได้คิดเป็นมูลค่าตอนอายุ 60 ปี หรือราว 5 ปีข้างหน้า
สมมติว่าเงินเฟ้อ 7% ต่อปี เงิน 10,000,000 บาทวันนี้ อีก 5 ปีข้างหน้าจะเหลือ 7,129,862 บาท ดังนั้น ถ้านาย ก. ต้องการมีเงิน 10,000,000 บาท ตอนอายุ 60 ปี วันนี้ต้องเก็บเงินให้ได้ 14,025,517 บาท
จากสภาวะในปัจจุบันที่เงินเฟ้อกำลังเป็นขาขึ้น ส่งผลกระทบต่อมูลค่าเงิน ทำให้ทุกคนเริ่มปรับตัว เช่น วางแผนการใช้จ่ายด้วยการประหยัดมากขึ้น และถ้าเงินเฟ้อปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลต่อการเก็บเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณด้วย จึงต้องคำนึงถึงเงินเฟ้อด้วยเสมอ เพื่อรักษามูลค่าเงินไม่ให้ลดลงไปตามกาลเวลา