5 อาหาร ‘ทำลายสมอง’
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
คนส่วนใหญ่ที่ดูแลเรื่องอาหารการกิน มักมีคำหนึ่งว่าถ้ากินอาหารเหล่านี้เข้าไป จะส่งผลอย่างไรต่อหัวใจ ผิวพรรณ และที่สำคัญคือรอบเอว เราแทบจะไม่เคยคิดเลยว่าอาหารที่กินเข้าไปนั้นจะส่งผลกับสมอง อย่างไรบ้าง
จริง ๆ แล้วลำไส้และสมองของเรานั้น มีความสัมพันธ์กัน หากอวัยวะหนึ่งแย่ลง ก็จะส่งผลโดยตรงไปยังอีกอวัยวะหนึ่งด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อลำไส้อักเสบ จะทำให้พลังงานถูกส่งไปยังสมองและร่างกายลดลง และยังสร้างสารอนุมูลอิสระที่ไปทำลายเยื่อสมองอีกด้วย
Dr.Uma Naidoo นักจิตวิทยาโภชนาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง อาจารย์ของ Harvard Medical School และผู้อำนวยการด้านโภชนาการและจิตเวชศาสตร์ ของโรงพยาบาล Massachusetts General Hospital และนักเขียนหนังสือขายดี “This Is Your Brain on Food: An Indispensable Guide to the Surprising Foods that Fight Depression, Anxiety, PTSD, OCD, ADHD, and More.” ได้กล่าวว่า เธอมักจะพยายามหลีกเลี่ยงอาหาร 5 ประเภทนี้ ที่จะทำลายสมองได้
อาหารแปรรูป
เช่น ไส้กรอก เบคอน เป็นต้น อาหารแปรรูปเหล่านี้มักจะมีการใส่น้ำตาลในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งน้ำตาลที่มากเกินความต้องการนั้นนำไปสู่การอักเสบของสมองได้ และอาจส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าและเหนื่อยล้าในที่สุด
ดังนั้นแทนที่จะซื้ออาหารแปรรูป ควรเลือกซื้ออาหารที่ให้สารอาหารครบถ้วนจำพวกของสด เช่น ผัก–ผลไม้สด และเนื้อสัตว์ออร์แกนิค จะดีกว่า
น้ำมันพืช
การพัฒนาของอุตสาหกรรมอาหารนำไปสู่การผลิตน้ำมันในราคาที่ถูก เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวันและน้ำมันปาล์ม เป็นต้น ซึ่งน้ำมันพืชเหล่านี้จะมีโอเมก้า 6 สูง ส่งผลทำให้เกิดภาวะอักเสบได้ และยังปราศจากโอเมก้า 3 ที่มีคุณสมบัติต่อต้านการอักเสบและส่งผลดีกับสมอง
มีการศึกษาพบว่าผู้ที่รับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 6 สูง มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ที่รับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 สูง
ดังนั้นเราควรเลือกน้ำมันมะกอก น้ำมันอะโวคาโด ที่มีโอเมก้า 3 สูง ในการปรุงอาหารแทนน้ำมันพืชที่มีโอเมก้า 6 สูง อย่างน้ำมันปาล์ม
น้ำตาล
คุณอาจจะคิดว่า น้ำตาลมีอยู่แค่ในเบเกอรี่ น้ำอัดลม ชานมไข่มุก แต่จริง ๆ แล้วน้ำตาลยังอยู่ในอาหารที่คิดไม่ถึงอีกด้วย อย่างซอสมะเขือเทศ น้ำสลัด และเฟรนช์ฟรายส์ เป็นต้น
การที่ร่างกายได้รับน้ำตาลในปริมาณที่เกินความต้องการนั้น จะทำให้เกิดการอักเสบที่รุนแรงขึ้น และทำให้เกิดความวิตกกังวลและระดับอารมณ์ที่ไม่คงที่ได้
ดังนั้น เมื่อเราทานอาหาร เช่น ก๋วยเตี๋ยว ข้าวผัด ก็ควรหลีกเลี่ยงการเติมน้ำตาลลงไปในอาหาร และถ้าอยากกินของหวาน อาจเลือกผลไม้ที่มีรสหวาน หรือดาร์กช็อกโกแลตแทน
ของทอด
งานศึกษาในปี 2016 ได้ศึกษาคนงานในโรงงาน 715 คน และพบว่าคนที่ชอบกินของทอดมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าคนที่ไม่ค่อยกินของทอด และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องไขมันในอาหารก็เป็นเรื่องที่ตระหนักมากขึ้น ระหว่าง ‘ไขมันเลว’ เช่น มาการีน ที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคอื่น ๆ ได้ และ ‘ไขมันดี’ เช่น น้ำมันมะกอก ที่จะช่วยให้สุขภาพดีได้ ทำให้ผู้คนสนใจมาบริโภคไขมันดีกันมากขึ้น
สารให้ความหวานเทียม
หลาย ๆ คน หลีกเลี่ยงการทานของหวาน โดยเลือกทานอาหารที่มีสารให้ความหวานเทียมแทน แถมสินค้าเหล่านี้ยังมีการเขียนโฆษณาไว้ว่า ‘ดีต่อสุขภาพ’ โดยช่วยลดแคลอรี่ได้
แต่เป็นเรื่องน่าตกใจ เพราะในทางวิทยาศาสตร์นั้น สารให้ความหวานเทียมหลายชนิดสามารถนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้พบว่าผู้ที่บริโภคสารให้ความหวานเทียม ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเครื่องดื่มไดเอท จะมีภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้ที่ไม่บริโภค ที่แย่ไปกว่านั้น มีการศึกษาหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าสารให้ความหวานเทียมอาจเป็นพิษต่อสมอง ซึ่งทำให้ความเข้มข้นของสารสื่อประสาทที่ควบคุมอารมณ์เปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้นควรลดและหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ใช้สารให้ความหวานเทียม เลือกอาหารที่ใช้ความหวานตามธรรมชาติแทน เช่น น้ำผึ้ง เป็นต้น
จำไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอาหารเพียงอย่างเดียวนั้น จะไม่ได้ช่วยป้องกันหรือรักษาภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลได้อย่างเต็มที่ แต่การเปลี่ยนนิสัยการกินสามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นได้ มาเริ่มเปลี่ยนแปลงการกินวันละนิดกัน