9 หุ้นเติบโต ราคาโดนใจ
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ถ้าเอ่ยถึงข้อมูลพื้นฐานและอัตราส่วนทางการเงินสำหรับการหาหุ้นเติบโตก็มีด้วยกันหลากหลาย เช่น ดูสถานะทางการเงิน ความสามารถในการทำกำไร กระแสเงินสด อัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio) หรืออัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE)
นอกจากนี้ มีอัตราส่วนทางการเงินประเภทหนึ่งที่ประเมินการเติบโตของกำไร และประเมินความถูกแพงของราคาหุ้นได้ นั่นคือ Price Earnings to Growth Ratio (PEG Ratio) ด้วยการนำค่า P/E Ratio ของหุ้นหารด้วยอัตราการเติบโตของกำไรปกติต่อหุ้น (Core EPS Growth)
- ค่า PEG Ratio มีค่าระหว่าง 0 ถึง 1 แสดงว่าราคาหุ้นต่ำกว่าอัตราการเติบโต หรือหุ้นมีราคาถูก
- ค่า PEG Ratio มากกว่า 1 แสดงว่า P/E Ratio สูงกว่าอัตราการเติบโต หรือหุ้นมีราคาแพง
- ค่า PEG Ratio น้อยกว่า 0 เนื่องจากค่าอัตราการเติบโตมีค่าเป็นลบหรือบริษัทไม่มีกำไร
นักลงทุนที่นำ PEG Ratio มาใช้ในการคัดกรองหุ้นและประสบความสำเร็จ ได้แก่ ปีเตอร์ ลินช์ โดยได้กล่าวเอาไว้ว่า ราคาหุ้นของบริษัทที่สมเหตุสมผลนั้น ค่า P/E Ratio จะต้องเท่ากับอัตราการเติบโตของกำไร และการจะตรวจสอบว่าราคาหุ้นที่ซื้อว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ก็จะใช้ PEG Ratio ในการช่วยกรองอีกขั้น หลังจากที่ดูค่า P/E Ratio ไปแล้ว
ตัวอย่าง
- หุ้น A ราคา 5 บาท กำไรต่อหุ้น 1 บาท และประเมินว่าจะมีอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) 3%
- หุ้น B ราคา 15 บาท กำไรต่อหุ้น 2 บาท และประเมินว่าจะมีอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) 10%
จากตัวอย่าง พบว่าหุ้น A มีค่า P/E Ratio เท่ากับ 5 เท่า (5 หาร 1) ค่า PEG Ratio เท่ากับ 1.67 เท่า (5 หาร 3) ส่วนหุ้น B มีค่า P/E Ratio เท่ากับ 7.5 เท่า (15 หาร 2) ค่า PEG Ratio เท่ากับ 0.75 เท่า (7.5 หาร 10)
ถ้าดูเพียงค่า P/E Ratio นักลงทุนจะมองว่าหุ้น B มีราคาแพงเกินไป (ค่า P/E Ratio สูงกว่าหุ้น A) แต่เนื่องจากค่า PEG Ratio หุ้น B ที่ต่ำกว่า แสดงว่าราคาหุ้นที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตที่สูงกว่า
การใช้ค่า PEG Ratio ควรใช้กับหุ้นที่มีกำไรเติบโตสูงสม่ำเสมอ และอาจไม่เหมาะกับหุ้นที่การเติบโตน้อยหรือหุ้นที่กำไรผันผวน ที่สำคัญการดูค่า PEG Ratio ควรศึกษาร่วมกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและคุณภาพของกิจการ ขณะเดียวกันควรศึกษาบทวิเคราะห์ประกอบเพื่อดูการประเมินกำไรในอนาคต และใช้อัตราการเติบโตของกำไรเฉลี่ยย้อนหลังประกอบด้วย