เมื่อไหร่ควรปรับพอร์ตการลงทุน
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
การปรับพอร์ต = ควบคุมความเสี่ยงการลงทุน
แล้วเมื่อไหร่ควรปรับพอร์ต?…มาดู 4 แนวทางนี้กันเลย
กำหนดตามระยะเวลา
แนวทางนี้เป็นการกำหนดว่าเราควรจะปรับพอร์ตถี่แค่ไหน โดยไม่ได้พิจารณาสัดส่วนสินทรัพย์ที่เบี่ยงเบนไปจากเดิม ซึ่งจะเป็นการกำหนดไปเลยว่าควรจะปรับพอร์ตทุกไตรมาส ทุกครึ่งปี หรือทุก 1 ปี เป็นต้น
สิ่งที่ต้องพิจารณาว่าควรปรับพอร์ตถี่แค่ไหนจะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยได้แก่
- ความเสี่ยงที่รับได้: หากรับความเสี่ยงได้มาก ก็สามารถกำหนดระยะเวลาที่ยาวขึ้นได้
- ความสัมพันธ์ของสินทรัพย์: หากสินทรัพย์มีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน แปลว่าสินทรัพย์จะเติบโตไปพร้อมๆ กัน ทำให้สัดส่วนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมช้ากว่า จึงสามารถกำหนดระยะเวลาที่ยาวขึ้นได้
- ต้นทุนการปรับพอร์ต: ยิ่งค่าธรรมเนียมสูง การปรับสัดส่วนที่ถี่ขึ้นก็จะเกิดต้นทุนที่มากขึ้นและทำให้ผลตอบแทนโดยรวมลดลง
สัดส่วนของพอร์ตที่เปลี่ยนแปลง
แนวทางนี้เป็นการกำหนดว่าเราควรปรับพอร์ตเมื่อสัดส่วนสินทรัพย์เบี่ยงเบนจากเดิมเท่าไร โดยไม่ได้สนใจว่าความถี่จะบ่อยแค่ไหน เช่น กำหนดว่าจะปรับพอร์ตเมื่อสัดส่วนของสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งเบี่ยงเบนออกจากสัดส่วนที่ตั้งใจไว้เกิน 5% หรือ 10% เป็นต้น
การกำหนดแบบนี้ ผู้ลงทุนจะต้องคอยจับตาดูความเคลื่อนไหวของพอร์ตอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งมีความผันผวนมากเป็นพิเศษ เพราะมีโอกาสที่สัดส่วนจะเบี่ยงเบนเกินค่าที่กำหนดไว้ได้ง่าย
ความเสี่ยงที่รับได้เปลี่ยนไป
ด้วยระยะเวลาที่ผ่านไปอาจมีปัจจัยต่างๆ มากระทบต่อผู้ลงทุนได้ เช่น อายุที่เพิ่มมากขึ้น หรือมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่มากระทบกับแผนการในชีวิต ซึ่งทำให้รับความเสี่ยงได้น้อยลง เราอาจต้องปรับน้ำหนักของสินทรัพย์เสี่ยงให้ลดลงจากเดิมที่ตั้งใจไว้
โดยแนวทางนี้ไม่มีการกำหนดระยะเวลาหรือกรอบตัวเลขที่ชัดเจน แต่ผู้ลงทุนจะต้องวิเคราะห์สถานการณ์ของตัวเองเพื่อตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะปรับสัดส่วนการลงทุน
ตลาดที่เปลี่ยนไป
อีกหนึ่งแนวทางในการปรับพอร์ตการลงทุนเป็นการประเมินตามสถานการณ์ของตลาด เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการทำกำไรในช่วงตลาดขาขึ้น หรือช่วยลดความเสี่ยงในช่วงตลาดขาลง โดยหากวิเคราะห์แล้วว่าตลาดเป็นขาขึ้น ก็อาจปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงให้สูงขึ้น เพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่มากขึ้น แต่หากคิดว่าตลาดกำลังเข้าสู่ขาลง ก็ควรปรับลดสัดส่วนของสินทรัพย์เสี่ยงลงและไปเพิ่มสัดส่วนของสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าแทน
อย่างไรก็ตามแนวทางนี้ไม่ได้เหมาะกับทุกคน ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ในการประเมินสถานการณ์ตลาด เพราะหากประเมินผิดพลาดอาจส่งผลเสียต่อพอร์ตการลงทุนอย่างมาก