13 หุ้น ผลประกอบการเด่น ความสามารถทำกำไรแข็งแกร่ง
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
งบกำไรขาดทุน เป็นหนึ่งในงบการเงินที่รายงานเกี่ยวกับรายได้, ค่าใช้จ่าย, กำไร (ขาดทุน) ในแต่ละรอบบัญชี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทนั้น ที่สำคัญยังสามารถนำมาคาดการณ์ผลประกอบการในอนาคตได้อีกด้วย
หลักๆ แล้วนักลงทุนจะเริ่มต้นดูรายได้จากการขายและบริการ คือ รายได้หลักของธุรกิจหรือเรียกว่ารายได้ที่มาจากการดำเนินงาน รายได้อื่นๆ คือ รายได้ที่ไม่ได้มาจากการดำเนินงาน เช่น รายได้จากการขายสินทรัพย์ โดยเมื่อนำรายได้ทั้งสองก็รวมกัน เรียกว่า รายได้รวม
ในส่วนรายได้ จะบอกให้นักลงทุนเข้าใจว่ารายได้ของบริษัทในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ซึ่งสามารถนำไปเปรียบเทียบกับรายได้ปีก่อนหน้า ก็จะช่วยให้เห็นแนวโน้มการดำเนินธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น ถ้ารายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แสดงว่าขายสินค้าได้เพิ่มสูงขึ้นหรือขายได้ราคาดีขึ้น
สำหรับกำไรสุทธิ คือ รายได้สุทธิ ซึ่งจะช่วยบอกมูลค่าผลการดำเนินงานหลังรวมหรือหักรายการทั้งหมดในงบกำไรขาดทุนเรียบร้อยแล้ว เป็นตัวเลขที่มีประโยชน์สำหรับนักลงทุนในการประเมินยอดขาย (หรือรายได้) ที่มากกว่าค่าใช้จ่าย และเป็นตัวบ่งบอกความสามารถในการทำกำไรของบริษัท
กำไรสุทธิ = รายได้ – ต้นทุนขาย – ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ – ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย – ภาษี
หรือรายได้ทั้งหมด – ค่าใช้จ่ายทั้งหมด ในส่วนของกำไร (ขาดทุน) สุทธิ จะเป็นการสะท้อนภาพการทำกำไร (ขาดทุน) ของบริษัทในช่วงเวลานั้นๆ
อย่างไรก็ตาม หากดูเฉพาะการเติบโตยอดขายและกำไร อาจไม่เพียงพอหรือสร้างความมั่นใจได้ว่าบริษัทมีความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง ดังนั้น เพื่อเพิ่มให้แน่ใจยิ่งขึ้นว่าธุรกิจมีความสามารถทำกำไรได้ดี ควรดูอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ประกอบด้วย
อัตรากำไรสุทธิ คือ ความสามารถในการทำกำไรว่าบริษัทมีกำไรสุทธิ คิดเป็นสัดส่วนเท่าไรจากรายรับทั้งหมด คือ รายได้ทั้งหมดหักต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ดอกเบี้ยและภาษี ก็จะเหลือเป็นกำไรสุทธิ
- อัตรากำไรสุทธิ มากกว่า 0 หมายความว่า บริษัทมีความสามารถในการทำกำไร อาจหมายถึงมีประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุนที่ดีด้วย ดังนั้น อัตรากำไรสุทธิยิ่งสูง ยิ่งแสดงว่ามีความสามารถในการทำกำไรที่ดี
- อัตรากำไรสุทธิ น้อยกว่า 0 หมายความว่า บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรต่ำ อาจหมายถึงมีประสิทธิภาพในการควบคุมต้นทุนที่ไม่ดี และส่งผลให้ขาดทุนสุทธิได้ด้วย
นอกจากจะเปรียบเทียบตัวเลขต่างๆ ในงวดปัจจุบันกับอดีตของบริษัทแล้ว ควรเปรียบเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันด้วย ที่สำคัญก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นควรศึกษาข้อมูลจากบทวิจัยว่านักวิเคราะห์ได้ประเมินหรือให้ความเห็น คำแนะนำอย่างไรบ้าง