ข้ออ้างเด็ด ของคน ‘ไม่มีเงินเก็บ’
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
อยากเก็บเงินได้สักก้อน ช่างเป็นเรื่องแสนยากเย็น…แต่ทำไมเพื่อนบางคนที่เรียนจบมาพร้อมกัน ถึงมีเงินเก็บมากมาย ต่างจากเงินบัญชีเราอย่างสิ้นเชิง
มาดู 3 ข้ออ้างเด็ดของคน ‘ไม่มีเงินเก็บ’ และ 3 วิธีง่าย ๆ ช่วยให้เก็บเงินอยู่กัน
คนที่ไม่มีเงินเก็บมักมีเหตุผลตอบกับตนเองและคนรอบข้างได้เสมอ แต่ใช่ว่าจะเป็นเหตุผลให้เราจะมาใช้เพื่อละเลยหรือไม่ต้องเก็บเงิน เพื่อให้ชีวิตมั่นคงพร้อมรับกับอนาคตที่ไม่เคยแน่นอน
เงินใช้จ่ายยังไม่พอ จะมีเงินที่ไหนมาเหลือเก็บ
เคยสังเกตกันไหมว่า ทำไมเพื่อนที่อายุและตำแหน่งใกล้เคียงกัน เงินเดือนก็น่าจะใกล้กันถึงมีเงินเก็บมากกว่าเรา หรือหากมองตัวเองในอดีตตอนเริ่มทำงานที่เงินเดือนเพียง 15,000 บาท ยังใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องหยิบยืมใคร แต่พอเงินเดือนเพิ่มขึ้น เช่น 50,000 บาท ทำไมถึงเก็บเงิน เดือนละ 35,000 บาทไม่ได้ ทั้งที่เราก็ยังเป็นคนเดิม ยิ่งถ้าไม่มีภาระเพิ่ม (เช่น ผ่อนบ้าน เลี้ยงดูบุตร) ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นสิ่งที่น่าแปลกใจ
เมื่ออายุ หรือรายได้มากขึ้น แม้ค่าใช้จ่ายควรเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ควรเพิ่มขึ้นเท่าที่จำเป็นเพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นบ้าง เช่น เดิมขึ้นรถเมล์ได้ทุกวัน อาจเปลี่ยนเป็นเรียก Taxi บ้างในวันอากาศร้อนหรือฝนตก หรือเดิมทานร้านอาหารริมทางทุกมื้อ เปลี่ยนเป็นทานอาหารห้างฯ เดือนละ 2-4 ครั้ง ก็คงไม่แปลก แต่คงไม่ใช่การเปลี่ยนไปนั่ง Taxi ไป–กลับ ที่ทำงานทุกวัน หรือทานอาหารในห้างฯ ทุกมื้อ ทั้งที่เมื่อก่อนเป็นสิ่งที่แทบไม่ทำเลย
มีค่าใช้จ่ายเยอะ ทุกอย่างล้วนจำเป็น
เงินที่จ่ายแต่ละครั้ง มักเกิดจาก 2 กรณี ได้แก่ (1) จ่ายเพราะจำเป็น หากไม่จ่ายจะกระทบการดำรงชีวิต เช่น อาหาร 3 มื้อ เดินทางไปทำงาน เลี้ยงดูครอบครัว เช่า/ค่าผ่อนบ้าน ฯลฯ (2) จ่ายเพราะอยากได้ หากไม่จ่ายการใช้ชีวิตจะไม่สะดวกนัก แต่ยังดำรงชีวิตอยู่ได้ เช่น ชาบูกับเพื่อน มือถือออกใหม่ กาแฟหรูเจ้าดัง ฯลฯ
หากส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายที่ “อยากได้” ควรพยายามลดรายจ่ายส่วนนี้ลงเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินเก็บให้มากขึ้น ซึ่งรายจ่ายที่ “อยากได้” ไม่ใช่ว่าห้ามมี แต่ควรคิดทบทวนทุกครั้งก่อนจ่ายเงินนั้นออกไป ว่าหากเปลี่ยนไปจ่ายอย่างอื่นที่ราคาต่ำลง จะส่งผลต่อความสุขหรือการใช้ชีวิตหรือไม่ หรืออาจตั้งเพดานให้กับสิ่งที่ “อยากได้” ไม่เกินเดือนละ 1-2 ครั้ง เพื่อคุมรายจ่ายให้ต่ำลง
เงินที่เคยเก็บไว้ ไม่เคยอยู่นาน
การเก็บและรักษาเงินที่อยู่ตรงหน้าเป็นสิ่งที่ยาก เพราะพร้อมถูกนำออกมาไปใช้จ่ายได้เสมอ
Wealth Me Up จึงมี 3 วิธีง่าย ๆ เพื่อเก็บเงินให้อยู่มาฝากกัน
- แยกบัญชีเงินเก็บออกจากบัญชีใช้จ่ายในเดือนนี้ ช่วยให้เงินไม่ปะปนกัน รู้ว่าเงินที่ไว้ใช้จ่ายเดือนนี้เหลือเท่าไร ไม่เผลอใช้เกินตัว จนกระทบเงินเก็บที่มี
- เก็บในบัญชีที่เอาออกยาก เช่น เงินฝากประจำที่ต้องถอนที่สาขาธนาคารเท่านั้น กองทุนรวมทั่วไปที่มักต้องรอรับเงินหลังจากขายคืน 1-4 วันทำการ ทำให้มีเวลาได้ทบทวน ก่อนจะนำเงินนั้นออกมาใช้จ่ายจริง ๆ
- เก็บไว้ในที่ห้ามเอาออกก่อนกำหนด สำหรับเงินที่ตั้งใจเก็บจริง ๆ ไม่นำไปใช้จ่ายในช่วงนี้แน่นอน สามารถเก็บไว้ใน Term Fund กองทุน SSF/RMF ประกันชีวิตสะสมทรัพย์ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชนชั้นดี ฯลฯ เพื่อให้มั่นใจว่าจะถูกล็อกไว้ไม่หายไปกับความอยากที่มี
ทุกคนสามารถเก็บเงินได้ อยู่ที่เก็บได้มากหรือน้อยตามข้อจำกัดแต่ละคน ส่วนคนที่ไม่เก็บเงินหรือไม่มีเงินเก็บเลย เหตุผลคงมีเพียงอย่างเดียว คือ ไม่คิดที่จะเริ่มเก็บเงิน