IMF คาด ศก.เอเชียและแปซิฟิก เติบโตอย่างมั่นคง แม้ความเสี่ยงสูงขึ้น
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
แนวโน้มเศรษฐกิจระยะสั้นของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกค่อนข้างดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในเดือนเมษายน 2567 แม้ว่าการเติบโตจะยังคงขยายตัวอยู่ในระดับปานกลางในปี 2567 และ 2568 ทั้งนี้ คาดว่าภูมิภาคนี้จะมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกประมาณ 60% ในปี 2567
ในขณะเดียวกันความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความแข็งแกร่งของอุปสงค์ทั่วโลก ตลอดจนความผันผวนทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรจะทำหน้าที่เป็นตัวฉุดรั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปสู่ภาคส่วนที่มีผลิตภาพการผลิตสูง เช่น บริการที่สามารถซื้อขายได้จะช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตได้
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567
การเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกนั้นสูงกว่าที่คาดการณ์ในเดือนเมษายนเล็กน้อย โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างกระจายตัวทั่วทั้งภูมิภาคจากความต้องการผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้นตลอดจนการบริโภคและการลงทุนที่ขยายตัวในอัตราที่แข็งแกร่งในภูมิภาคเกิดใหม่ส่วนใหญ่ในเอเชีย อย่างไรก็ตามการบริโภคในประเทศพัฒนาแล้วในภูมิภาคเอเชียกลับชะลอตัวลง สะท้อนถึงผลกระทบบางส่วนจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดในช่วงที่ผ่านมา
ส่วนในประเทศจีนนั้นการปรับตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภาคเอกชน ทั้งนี้คาดว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะขยายตัว 4.6% ในปี 2567 เพิ่มขึ้นจาก 4.5% ที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายนและจะขยายตัว 4.4% ในปี 2568 เพิ่มขึ้นจาก 4.3% ที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน ซึ่งสภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
อัตราเงินเฟ้อ
อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงในหลายพื้นที่ในภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา จากการปรับตัวลดลงของราคาสินค้า เนื่องจากความต้องการสินค้าที่ลดลงและถูกแทนที่โดยความต้องการภาคบริการหลังการระบาดของโควิด-19 โดยอัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจเกิดใหม่ส่วนใหญ่ในเอเชีย ปรับตัวกลับมาอยู่ในระดับเป้าหมายแล้วในช่วงปลายปี 2566 อย่างไรก็ดี แรงกดดันด้านค่าจ้างในประเทศพัฒนาแล้วในภูมิภาคเอเชียยังคงกดดันให้อัตราเงินเพื่อภาคบริการยังอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศในภูมิภาคส่วนใหญ่จะกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเพื่อภายในต้นปี 2568
ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2567
ตลาดการเงินทั่วโลกเผชิญกับความผันผวนจากการคาดการณ์นโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคาคารกลางสหรัฐฯ ที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างฉับพลันในทางที่ลดลง ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากการปรับกลยุทธ์การลงทุนออกจากการทำแครี่เทรดเงินเยน ซึ่งส่งผลกระทบไปยังสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย ในขณะเดียวกันตลาดหุ้นมีการเทขายแต่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางในเอเชียส่วนใหญ่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย แม้ว่าจะน้อยกว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ตาม ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่อยู่นอกเหนือการคาดการณ์อาจส่งผลต่อความคาดหวังเหล่านี้และส่งผลให้ตลาดมีความผันผวนมากขึ้น
ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจยังเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจยังเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มไปทางด้านลบ ความเสี่ยงในระยะใกล้รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่อาจจะชะลอตัวลงจากผลกระทบของการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวในปี 2564-66 ที่อาจจะส่งผลยาวนานกว่าที่คาดไว้ ความตึงเครียดหรือขัดแย้งทางการค้าอาจจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ตลอดจนการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มากว่าคาดการณ์ ทั้งนี้ในระยะต่อไปยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินนโยบายที่รอบคอบและคล่องตัว
ธนาคารกลางควรมุ่งเน้นที่จะรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งอาจหมายถึงการเลื่อนการผ่อนคลายนโยบายการเงินในประเทศที่อัตราเงินเฟ้อยังคงสูงกว่าระดับเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง และการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่อยู่ในระดับต่ำกว่าที่ต้องการในบางประเทศ
ในหลายประเทศที่ระดับหนี้สูงและเผชิญความท้าทายในระยะกลางที่ต้องใช้พื้นที่ทางการคลังเพื่อรองรับรายจ่ายด้านประชากรสูงอายุและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีความจำเป็นที่ต้องดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังนอกจากนั้น หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินและธนาคารควรติดตามความเสี่ยงอย่างระมัดระวัง เพื่อเฝ้าระวังฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจที่ยังอาจจะได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินแบบตึงตัวในช่วงที่ผ่านมา
ความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นยังคงเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียได้ประโยชน์จากการบูรณาการทางเศรษฐกิจและการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะในส่วนของการผลิตและส่งออกสินค้า งานวิจัยที่แนบมาพร้อมกับรายงานแนวโน้มฯ ฉบับนี้ ได้ทำการศึกษาถึง “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเอเชีย: อดีตและแนวโน้ม” ซึ่งเป็นการศึกษาถึงแนวโน้มการเติบโตในระยะยาวของเศรษฐกิจเอเชียและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจที่เน้นภาคบริการมากขึ้น โดยผลการศึกษาพบว่า
การเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชียมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงจากปัจจัยด้านประชากรเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงไปสู่บริการที่สามารถซื้อขายได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป มีแนวโน้มว่าจะสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าจะสร้างความเสียหาย โดยการดำเนินนโยบายที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ตลอดจนนโยบายด้านการศึกษาและฝึกอบรมเพื่อปรับตัวรับกับเทคโนโลยี จะส่งเสริมให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียได้รับประโยชน์ในการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ