เช็กเลย! เงินเดือนเท่านี้ ขอคืนภาษีได้เท่าไหร่?
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
มาเช็กกันเลย! เงินเดือนเท่านี้
ต้องจ่าย ‘ภาษี’ เท่าไหร่?…‘ขอคืนภาษี’ ได้แค่ไหน?
เงินเดือนที่ได้ ต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่?
พนักงานเอกชนที่รายได้เฉลี่ยประมาณเดือนละ 26,000 บาทขึ้นไป จะอยู่ในเกณฑ์ต้องเริ่มเสียภาษี และยิ่งรายได้สูงขึ้น ภาษีที่ต้องเสียก็ยิ่งสูงตาม
โดยภาษีที่ HR หักจากรายได้แต่ละเดือน มักคำนวณจากเงินที่พนักงานได้รับจากบริษัท ค่าใช้จ่ายตามกฎหมาย ค่าลดหย่อนส่วนตัว และค่าลดหย่อนประกันสังคม ซึ่งหากพนักงานไม่มีเงินโบนัสและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ภาษีที่ถูก HR หักไว้แต่ละเดือน จะเป็นไปตามข้อมูลข้างต้น ส่วนผู้ที่ทำอาชีพอื่นหรือมีรายได้รูปแบบอื่น ภาษีที่คำนวณได้จะต่างออกไป
ตัวช่วยขอคืนภาษี มีอะไรบ้าง?
คนทั่วไปอาจมีค่าลดหย่อนที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ แต่สามารถใช้ลดหย่อนเพื่อขอคืนภาษีบางส่วนที่ถูกหักไปได้ เช่น
- ดอกเบี้ยบ้าน ตามที่จ่ายจริงทั้งปี (ไม่ใช่ยอดผ่อนรวม) ใช้สิทธิได้สูงสุด 100,000 บาท
- บุตร โดยมีเงื่อนไขดังนี้
- อายุไม่เกิน 20 ปี/ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
- อายุ 20-25 ปี เรียนอยู่ระดับอนุปริญญา หรือปริญญาตรีขึ้นไป
- อายุเท่าไหร่ก็ได้ แต่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้หรือเสมือนไร้ความความสามารถ
- โดยบุตรที่มีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาทต่อปี ลดหย่อนได้ 30,000 บาท ต่อบุตร 1 คน
- บิดา และ/หรือ มารดา ที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และรายได้ไม่ถึง 30,000 บาทต่อปี ลดหย่อนได้ 30,000 บาท ต่อบิดาหรือมารดา 1 คน ในกรณีมีพี่น้องไม่สามารถใช้สิทธิซ้ำซ้อนได้
เช่น ผู้ที่มีบิดา มารดา และบุตร 1 คน ที่อยู่ในเกณฑ์ใช้สิทธิได้ (รวมค่าลดหย่อน 90,000 บาท) คนเงินเดือน 40,000 บาท ขอคืนภาษีได้ 5,185 บาท ส่วนคนเงินเดือน 60,000 บาท ขอคืนภาษีได้ 11,685 บาท เป็นต้น
ทางเลือกเก็บออม แถมมีภาษีคืน
กองทุน SSF/RMF ประกันชีวิต ประกันบำนาญ และ ThaiESG กองทุนลดหย่อนภาษีน้องใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งเงินออมทางเลือกที่สามารถใช้ขอคืนภาษีได้ โดยแต่ละทางเลือกมีเงื่อนไขที่ต้องรู้ และเหมาะกับคนที่ต่างกัน ได้แก่
กองทุน SSF
- ลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของเงินพึงประเมินทั้งปีที่เสียภาษี สูงสุดปีละ 200,000 บาท
- ไม่มีขั้นต่ำในการลงทุนแต่ละครั้ง และไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องก็ได้
- หน่วยลงทุนที่ลงทุนแต่ละครั้ง ต้องถืออย่างน้อย 10 ปีเต็ม (วันชนวัน)
- อาจมีนโยบายจ่ายเงินปันผล ขึ้นกับแต่ละกองทุน
- เหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงจากลงทุนได้บ้าง อายุน้อยกว่า 45 ปี
กองทุน RMF
- ลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของเงินพึงประเมินทั้งปีที่เสียภาษี สูงสุดปีละ 500,000 บาท
- ไม่มีขั้นต่ำในการลงทุนแต่ละครั้ง แต่ต้องลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งทุกปี ถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และต้องไม่น้อยกว่า 5 ปีเต็มด้วย
- ทุกกองทุน ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล
- เหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงจากลงทุนได้บ้าง อายุมากกว่า 45 ปี หรือต้องการเก็บเงินเพื่อยามเกษียณ
ประกันชีวิต
- ใช้สิทธิได้ตามเบี้ยที่จ่ายจริงทั้งปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาท (รวมกับสิทธิเบี้ยประกันสุขภาพ 25,000 บาท)
- ต้องเป็นแบบประกันที่มีระยะเวลาคุ้มครองหรือครบสัญญา 10 ปีขึ้นไป
- เงื่อนไขการจ่ายเบี้ยและเงินคืน ขึ้นอยู่กับแบบประกัน
- เหมาะกับผู้ที่ต้องการเงินคืนที่แน่นอนตามสัญญา หรือต้องการทุนประกันชีวิตให้กับคนในครอบครัว
ประกันบำนาญ
- ใช้สิทธิได้ตามเบี้ยที่จ่ายจริงทั้งปี แต่ไม่เกิน 15% ของเงินพึงประเมินทั้งปีที่เสียภาษี สูงสุดปีละ 200,000 บาท
- เหมาะกับผู้ที่ต้องการเงินคืนที่แน่นอนตามสัญญา หรือต้องการรายได้สม่ำเสมอหลังเกษียณ
กองทุน ThaiESG
- ใช้สิทธิได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 300,000 บาท (ไม่นับรวมในสิทธิ 5 แสนบาท ของกองทุน SSF/RMF ประกันบำนาญ ฯลฯ)
- ไม่มีขั้นต่ำ ไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี
- หน่วยลงทุนที่ลงทุนในแต่ละครั้ง ต้องถือไว้อย่างน้อย 5 ปีเต็ม (วันชนวัน) โดยใช้สิทธิได้ตั้งแต่ปี 2566-2575
- เหมาะกับผู้ที่มีรายได้สูง หากมีการใช้สิทธิกองทุน SSF RMF ประกันชีวิต ประกันบำนาญ ด้วยแล้ว ภาษีที่ประหยัดได้จะยิ่งมากขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ในแต่ละปีสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีใน “SSF + RMF + ประกันบำนาญ + PVD + กบข. + กอช. + กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน” รวมกันได้ไม่เกิน 500,000 บาท
โดยเมื่อรวมกับการลงทุนในกองทุน ThaiESG และเบี้ยประกันชีวิต จะสามารถใช้สิทธิรวมกันได้ถึง 900,000 บาทนั่นเอง
คนรายได้ที่ต่างกัน สามารถใช้สิทธิสูงสุดในแต่ละทางเลือกและได้เงินคืนภาษีต่างกัน โดยแต่ละคนอาจไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิสูงสุดครบทุกทางเลือกก็สามารถขอคืนภาษีทั้งหมดที่ถูกหักไปได้ เช่น คนเงินเดือน 30,000 บาท มีเงินได้สุทธิก่อนวางแผน 191,000 บาท หากเลือกลงทุนกองทุน SSF 41,000 บาท เงินได้สุทธิหลังวางแผนจะอยู่ที่ 150,000 บาท (191,000 บาท – 41,000 บาท) ซึ่งไม่อยู่ในเกณฑ์เสียภาษีแล้ว
“ภาษี” สิ่งที่ผู้มีเงินได้ทุกคนมีหน้าที่ต้องจ่าย แต่ก็สามารถวางแผนเพื่อลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ ด้วยการวางแผนเก็บออมในทางเลือกที่เหมาะสมกับตนเอง