เที่ยว “ญี่ปุ่น” บูมไม่หยุดฉุดไม่อยู่
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
…แต่ละปี คนไทย-คนต่างชาติ ไปเที่ยวญี่ปุ่นกันเยอะแค่ไหน?
…ทำไม? ท่องเที่ยวญี่ปุ่น ถึงบูมไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ จนถึงขั้นล้นเมือง
…ญี่ปุ่นจัดการกับปัญหานี้อย่างไร และเป้าหมายต่อไปของการท่องเที่ยวอยู่ตรงไหน?
‘ญี่ปุ่น’ ปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมของคนทั่วโลก
จากการสำรวจความคิดเห็นนักท่องเที่ยวที่สนามบินและท่าเรือก่อนพวกเขาเดินทางออกจากญี่ปุ่นเมื่อปี 2023 พบว่า กิจกรรมยอดนิยมที่เป็นแรงกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางญี่ปุ่น 5 อันดับแรก คือ การได้รับประทานอาหารญี่ปุ่น (83.2%) การชอปปิง (60.9%) การเดินเที่ยวในย่านชอปปิง (51.7%) การเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ (49.4%) และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ญี่ปุ่น (34.9%)
ซึ่งเมื่อเจาะลึกไปที่ “อาหาร” ก็จะพบว่า ประสบการณ์การกินอาหารสไตล์ญี่ปุ่นเป็นแรงกระตุ้นชั้นเยี่ยมที่ทำให้นักท่องเที่ยวอยากไปเที่ยวญี่ปุ่น ถ้าใครเคยไปเที่ยวตามเมืองใหญ่ในญี่ปุ่นก็จะเห็นว่า มีร้านอาหารให้เลือกลิ้มรสหลากหลาย ตั้งแต่อาหารญี่ปุ่นต้นตำรับไปจนถึงอาหารจานด่วนสไตล์ตะวันตก
มีหลายเหตุผลที่ทำให้ “ญี่ปุ่น” เป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมของคนต่างชาติ เช่น มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงาม มีวัดมีปราสาทสวยๆ อาหารอร่อย สวรรค์นักช้อป ความปลอดภัยสูง บ้านเมืองสะอาด คนท้องถิ่นเป็นมิตร ระบบขนส่งสาธารณะสะดวกสบายและครอบคลุม ที่พักมีให้เลือกหลากหลายรวมถึงที่พัก Airbnb และยังมีการผ่อนคลายเรื่องวีซ่า ช่วยให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าญี่ปุ่นสะดวกยิ่งขึ้น
อีกหนึ่งแรงหนุนสำคัญก็คือ การที่เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุดแตะระดับต่ำสุดในรอบ 38 ปี (อย่างเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 67 อ่อนค่าลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 38 ปีอีกครั้งที่ 161.745 เยนต่อดอลลาร์) นี่จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเพื่อดึงนักท่องเที่ยว เพราะเงินเยนที่อ่อนค่าทำให้การเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่น ‘ถูกลง’ ไม่เพียงแต่ผู้คนทั่วทั้งโลกรวมทั้งคนไทยหลั่งไหลไปเยือนญี่ปุ่นซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ยังทำให้ชาวญี่ปุ่นออกไปเที่ยวนอกน้อยลง และหันมาเที่ยวในประเทศแทน
‘ต่างชาติ – คนไทย’ แห่เที่ยวญี่ปุ่นทะลัก
ประสบการณ์และปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นสำคัญให้คนต่างชาติอยากไปเที่ยวญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุด ในเดือนมีนาคมปีนี้ ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าญี่ปุ่นพุ่งขึ้น 69.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเป็น 3.08 ล้านคน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติทะลุ 3 ล้านคนภายในเดือนเดียว ซึ่งปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้คนต่างชาติไปเที่ยวช่วงนั้นก็คือ เป็นฤดูซากุระผลิ และเป็นช่วงวันหยุดอีสเตอร์ นอกจากนี้ ในเดือนเมษายนและพฤษภาคมปีนี้ ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ทะลุ 3 ล้านคนเช่นกัน
แค่ยอดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นยังไม่พอ ยอดการใช้จ่ายก็ยังเพิ่มตามไปด้วย โดยช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (มกราคม–มีนาคม) ยอดใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมอยู่ที่ 1.75 ล้านล้านเยน (11,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือเป็นไตรมาสที่มียอดสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากเงินเยนอ่อนค่า นั่นเอง
ในเดือนพฤษภาคม องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 3,040,100 คน เพิ่มขึ้น 9.6% เมื่อเทียบกับยอดนักท่องเที่ยวเดือนพฤษภาคม 2019 หรือก่อนโควิดระบาด
โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหญ่สุดมาจาก “เกาหลีใต้” 738,800 คน เพิ่มขึ้น 22.4% จากปี 2019 รองลงมาคือ “จีน” 545,400 คน ลดลง 27.9%, “ไต้หวัน” 466,000 คน เพิ่มขึ้น 9.3%, “สหรัฐฯ” 247,000 คน พุ่งขึ้นถึง 57.4% และฮ่องกง 217,500 คน เพิ่มขึ้น 15.1%
จากการวิเคราะห์พบว่า 19 ตลาดจาก 23 ตลาดนักท่องเที่ยวหลักมียอดนักท่องเที่ยวทำสถิติสูงสุดใหม่ในเดือนพฤษภาคม ทั้ง เกาหลีใต้, สิงคโปร์, แคนาดา และอินเดีย ซึ่งทางญี่ปุ่นบอกว่า มีนักท่องเที่ยวจากสิงคโปร์และมาเลเซียเพิ่มขึ้นในเดือนดังกล่าวเพราะเป็นช่วงปิดเทอม ส่วนนักท่องเที่ยวอินเดียเพิ่มจากมาตรการจูงใจด้านการท่องเที่ยว
ส่วนคนไทยนั้นพบว่าไปเที่ยวญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคมปีนี้ 97,400 คน ลดลง 9.7% จากเดือนพฤษภาคม 2019 แต่เพิ่มขึ้น 20.7% หากเทียบกับเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา
‘ญี่ปุ่น’ ตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติ 60 ล้านคนในปี 2030
ตัวเลขท่องเที่ยวที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น “Fumio Kishida” คาดหวังว่า หากอัตราการเติบโตด้านการท่องเที่ยวยังเป็นแบบนี้ต่อไป ปีนี้ญี่ปุ่นจะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและกวาดรายได้สูงเป็นประวัติการณ์แน่ๆ
จากภาพที่สดใสแบบนี้ ญี่ปุ่นจึงตั้งเป้าว่าจะดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศมากถึงปีละ 60 ล้านคนภายในปี 2030 หรือมากกว่าปัจจุบันกว่า 2 เท่าตัว
ขณะที่ปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติไปเยือนญี่ปุ่นมากกว่า 25 ล้านคน หลังจากมีการยกเลิกกฎคุมการเดินทางระหว่างประเทศที่เคยเข้มข้นในช่วงโควิดระบาด
ท่องเที่ยวญี่ปุ่นบูมไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ สู่ Overtourism
จำนวนนักท่องเที่ยวที่สูงขึ้นก็ต้องแลกมากับปัญหาความท้าทายต่างๆ ที่พ่วงมากับสถานการณ์ “Overtourism” หรือ การที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากและกระจุกตัวจนเกินความสามารถในการรองรองของพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว
ปัญหาที่เจอมีทั้งเรื่องขยะ การจราจรติดขัด รวมถึงเสียงบ่นจากคนท้องถิ่นที่ต้องเจอและรับมือกับพฤติกรรมแหกกฎระเบียบ และความไร้มารยาทของนักท่องเที่ยว
บางเมือง เช่น “ฮิเมจิ” (Himeji) ตัดสินใจเก็บค่าเข้าชมปราสาท “ฮิเมจิ” นักท่องเที่ยวต่างชาติสูงกว่าคนท้องถิ่น 4 เท่า เพราะห่วงว่าโครงสร้างไม้ของปราสาทจะชำรุด และเปราะบางมากขึ้น หลังจากนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินขึ้นลง
แหล่งท่องเที่ยวดังอย่าง “ภูเขาไฟฟูจิ” ที่จังหวัด “ยามานาชิ” ก็มีการติดตั้งประตูควบคุมฝูงชนบนทางขึ้นภูเขาตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน เพื่อหวังควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูปีนเขาที่เริ่มขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม และต้องการจัดการกับปัญหาความแออัดของคน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยบนภูเขาที่มีปัญหารุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะนักเที่ยวทะลักล้น ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าจะคุมจำนวนนักปีนเขาไม่เกิน 4,000 คนต่อวัน
‘ญี่ปุ่น’ ปลุกเที่ยวเมืองรองรับมือ Overtourism
นอกจากแก้ปัญหาตรงจุดที่มีนักท่องเที่ยวมากเป็นพิเศษแล้ว ทางการญี่ปุ่นก็พยายามจูงใจและกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวออกไปเที่ยวพื้นที่ชนบทอื่นๆ มากขึ้น
โดยทางการพยายามจูงใจและกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวออกไปเที่ยวพื้นที่ชนบทมากขึ้น จากเดิมกระจุกตัวกันอยู่ในเมืองใหญ่ยอดฮิตเท่านั้น
มาตรการที่ใช้ เช่น การสร้างโปรแกรมท่องเที่ยวเพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับนักเดินทาง โดยอาศัยแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติในท้องถิ่น, วัฒนธรรมประเพณี และอาหาร มีการให้ข้อมูลเส้นทางท่องเที่ยวที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น
สำหรับเมืองท่องเที่ยวใหม่ที่ต้องการโปรโมตก็มีหลายแห่ง เช่น “เมืองอิเสะ-ชิมะ” ในจังหวัด “มิเอะ” พื้นที่ชายฝั่งเงียบสงบเหมาะกับการพักผ่อน มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ทั้งทะเลและภูเขา และมีของกินอร่อยๆ มากมาย มีที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ เช่น อาณาจักรนินจา เป็นต้น
สำหรับพื้นที่เที่ยวใหม่ๆ ทางญี่ปุ่นก็จะสนับสนุนให้เทศบาลท้องถิ่นโปรโมตและนำเสนอประสบการณ์แปลกใหม่เฉพาะสำหรับนักท่องเที่ยว เช่น การท่องเที่ยวผจญภัยในสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ พื้นที่ธรรมชาติ และการพักค้างคืนในหมู่บ้านประวัติศาสตร์ เป็นต้น
เพื่อสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่าเดิม ญี่ปุ่นก็มีแผนพัฒนาพื้นที่การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน พยายามแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในธุรกิจบริการ มีการพัฒนาระบบไกด์และล่ามมากขึ้น เช่น สถานีรถไฟญี่ปุ่นใช้ระบบแปลภาษาบนกระจกห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยระหว่างการสนทนากันนั้น คำพูดจะถูกแปลและแสดงผลเป็นข้อความแบบเรียลไทม์ รองรับภาษาต่างประเทศ 12 ภาษา รวมถึงอังกฤษ จีน และไทยด้วย
นอกจากนี้มีการเสนอให้เปิดเส้นทางรถบัสตรงสำหรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ เพื่อเดินทางจากสถานีหลักๆ ในเมืองใหญ่ ออกไปยังสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมใหม่ๆ ด้วย
นี่เป็นความพยายามและความตั้งใจของญี่ปุ่นที่ตั้งเป้าใช้ “การท่องเที่ยว” เป็นอีกกำลังสำคัญสร้างรายได้เข้าประเทศ และเดินหน้าพัฒนาแบบไม่หยุดยั้ง เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ และความประทับใจให้กับแขกที่มาเยือน และน่าจะเป็นบทเรียนสำหรับประเทศอื่น รวมทั้งประเทศไทยในการพัฒนาด้านท่องเที่ยวเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีกำลังซื้อเข้าประเทศมากขึ้น ก็จะสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่นเพิ่มตามไปด้วย แต่ก็ต้องมีการวางระบบกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อไม่ปล่อยให้การท่องเที่ยวทำลายท้องถิ่นจนหมดคุณค่าและเสน่ห์