รายได้ ความหมาย ความสุข เกี่ยวกันอย่างไร?
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
…คุณมีความสุข เพราะมีเงินทองมากมายหรือเปล่า?
…หรือมีความสุข เพราะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย?
…“รายได้-ความหมาย-ความสุข” เกี่ยวข้องกันอย่างไร?
นิยาม “ความหมาย” และ “ความสุข”
เมื่อพูดถึง “ความสุข” จะเป็นความเป็นอยู่ที่ดีตามความรู้สึกส่วนตัวของแต่ละคน หรืออาจพูดได้ว่า เป็นเรื่องของความรู้สึกล้วนๆ ความเป็นอยู่ที่ดีของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกันก็ได้โดยทั่วไป จะเป็นความรู้สึกอารมณ์เชิงบวก มากกว่าอารมณ์เชิงลบ และเป็นการประเมินชีวิตรวมๆ ของตัวเองว่า “น่าพอใจ”
ส่วน “ความหมาย” จะเป็นประสบการณ์ของชีวิตของแต่ละคนที่รู้สึกว่า มีคุณค่า (Value) มีจุดมุ่งหมาย (Purpose) และมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกัน (Coherence)
แม้ว่า “ความสุข” และ “ความหมาย” จะเป็นการประเมินชีวิตด้วยความรู้สึกส่วนตัวของแต่ละคน แต่ “ความสุข” จะเกี่ยวข้องกับความเพลิดเพลิน และเป็นประสบการณ์เชิงบวกมากกว่า ส่วน “ความหมาย” จะเป็นมองชีวิตของตัวเองว่ามีความสำคัญ มีทิศทาง มีเหตุมีผล
ทำไมคนเราถึงมี “ความต้องการ” ต่างกัน

เหมือนกับที่ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs) ระบุไว้ว่า คนเราจะถูกกระตุ้นให้เติมเต็มความต้องการขั้นพื้นฐานในลำดับต้นก่อนที่จะมีการพัฒนาความต้องการนี้ออกไปจากด้านล่างสู่ด้านบน ซึ่งดูได้จากภาพนี้ คือ เริ่มจากความต้องการพื้นฐานทางกายภาพเพื่อการดำรงชีวิต, ความปลอดภัย ความมั่นคง, ความรัก การเป็นเจ้าของ การมีความสัมพันธ์ที่ดี มีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม, ความเคารพ คือ การได้รับความเคารพจากคนอื่นในความเชี่ยวชาญเฉพาะ หรือมีความภูมิใจในตัวเอง และขั้นบนสุดคือ การบรรลุความหมาย คือ การบรรลุความหมายของชีวิต มีชีวิตสมบูรณ์ตามอุดมคติของแต่ละคน
ถ้าพิจารณาจากทฤษฎีนี้ คนที่มีฐานะทางการเงินด้อยกว่า จำเป็นต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด ดังนั้น พวกเขาอาจแคร์เรื่อง “การบรรลุความหมายของชีวิต” และ “ความหมายของชีวิต” น้อยกว่าเรื่อง ความต้องการทางภายภาพและความปลอดภัย
สำหรับคนที่ต้องดิ้นรนเพื่อให้มีสิ่งจำเป็นพื้นฐานเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต “ความหมาย” อาจมีบทบาทน้อยในการทำให้พวกเขามีความสุข เมื่อเทียบกับคนที่มมีฐานะทางการเงินดี
แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็อาจมองได้ว่า เมื่อคนมีฐานะทางการเงินดี การมีความสุขของพวกเขาอาจไม่จำเป็นต้องคิดถึงเรื่อง “ความหมาย” ก็ได้ เพราะเมื่อมีเงินมากกว่า ก็สามารถเข้าถึงแหล่งอื่นๆ ที่สร้างความสุขให้กับพวกเขาได้ เช่น เมื่อมีเงินมากกว่า ก็สามารถใช้เงินกับการสร้างประสบการณ์ต่างๆให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การกินอาหารมื้อหรูแปลกใหม่ ซึ่งผลการวิจัยก็แสดงให้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้สร้างความสุขได้ แต่อาจไม่มีความหมายในชีวิต
“ความหมาย” สิ่งที่ทำให้คนรายได้ต่ำมีความสุข
โดยมีงานวิจัย 3 ชิ้น ชิ้นแรกเป็นการศึกษากลุ่มตัวอย่างจากสหรัฐฯ ชิ้นที่ 2 เป็นการศึกษากลุ่มตัวอย่างจากทั่วโลก และงานวิจัยชิ้นที่ 3 เป็นการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างจากฝรั่งเศส
งานวิจัยชิ้นที่ 1 และ 2 จะวัดฐานะทางการเงิน โดยใช้ระดับรายได้แท้จริง (Actual Income Level) ส่วนงานวิจัยชิ้นที่ 3 จะใช้สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม คือ เงิน (รวยหรือจน มีเงินมากหรือน้อย), อาชีพหรืองาน และการศึกษา
ผลการวิเคราะห์งานวิจัยชิ้นแรกพบว่า ระดับความสัมพันธ์ระหว่าง “ความหมาย” และ “ความสุข” จะมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับระดับรายได้ โดยพบปฏิสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญ ระหว่าง “ระดับรายได้” และ “ความหมาย” ที่มีต่อ “ความสุข”

โดย “ความหมาย” เป็นสิ่งที่ทำให้คนรายได้ต่ำมีความสุข มากกว่าที่จะทำให้คนมีรายได้สูงมีความสุข เมื่อดูจากกราฟนี้ เราจะเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง “ความหมาย” และ “ความสุข” จะลดลงเรื่อยๆ เมื่อคนมีรายได้มากขึ้น และเมื่อพิจารณาตัวแปรด้าน “อายุ” และ “ศาสนา” ร่วมด้วย ก็ยังให้ผลเหมือนเดิม
และยังแสดงให้เห็นว่า ในสหรัฐฯ “ความหมาย” และ “ความสุข” มีความเชื่อมโยงกันใกล้ชิดมากขึ้นในกลุ่มคนมีรายได้ต่ำ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า แนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐฯ หรือว่าเป็นพื้นฐานของมนุษย์ เพราะว่า วัฒนธรรมสามารถมีอิทธิพลต่อ “ความหมาย” ได้
ระดับรายได้มีอิทธิพลต่อความเชื่อมโยง “ความหมาย” และ “ความสุข”
งานวิจัยชิ้นที่ 2 นักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลของ The Gallup World Poll ซึ่งการประเมิน “ความสุข” ใช้คำถามเหมือนกับงานวิจัยชิ้นแรก คือ
- เมื่อวานนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามยิ้มหรือหัวเราะมากหรือไม่
- ช่วงเวลาส่วนใหญ่ของเมื่อวานนี้ มีความสุขสนุกสนานหรือเปล่า
- เมื่อวานนี้ มีความสุขมากหรือเปล่า
ส่วน “ความหมาย” ใช้คำถาม “คุณรู้สึกว่าชีวิตมีเป้าหมายสำคัญหรือมีความหมายหรือไม่?” โดยให้ตอบว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่ เท่านั้น
ด้าน “ระดับรายได้” ประเมินจากข้อมูลรายได้ทั่วโลกของ Gallup ซึ่งมีการแปลงรายได้สกุลเงินท้องถิ่นเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ โดยใช้ ภาวะเสมอภาคของอำนาจการซื้อในการบริโภครายบุคคลของธนาคารโลก (World Bank’s Individual Consumption PPP)
ผลการวิจัยพบว่า มีปฏิสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่างระดับรายได้และความหมายที่มีต่อความสุข โดยพบว่า ความหมายและความสุขมีความเชื่อมโยงกันมากกว่าสำหรับกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำที่สุด และกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลาง เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุด
เมื่อพิจารณากันเป็นรายภูมิภาค คือ สหภาพยุโรป, ประเทศอื่นๆ ในยุโรป, เครือรัฐเอกราชรัฐ (Commonwealth of Independent States), ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เอเชียตะวันออก, ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน, อเมริกาเหนือ, ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ และแอฟริกาใต้ซาฮารา (Sub-Saharan Africa) และวิเคราะห์คนในกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด 3 กลุ่มบนสุด และมีรายได้ต่ำสุด 3 กลุ่มล่างสุด พบว่า แม้จะมีความแตกต่างกันด้านวัฒนธรรมและประชากร แต่คนในกลุ่มรายได้สูงจะมีความสัมพันธ์ระหว่างความสุขและความหมายน้อยกว่า
ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างทั่วโลกตอกย้ำให้เห็นว่า ระดับรายได้มีอิทธิพลต่อความเชื่อมโยงระหว่าง “ความหมาย” และ “ความสุข” และเมื่อพิจารณาตัวแปรด้าน “อายุ” และ “ศาสนา” ร่วมด้วย ก็ยังให้ผลเหมือนเดิม
“ความหมาย” และ “ความสุข” คนที่มีสถานะทางสังคมต่างกัน
งานวิจัยชิ้นที่ 3 เป็นการวัด “ความหมาย” และ “ความสุข” ของแต่ละคน เพื่อประเมินระดับความสัมพันธ์ระหว่าง “ความหมาย” และ “ความสุข” ของคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมแตกต่างกัน

ในงานวิจัยชิ้นนี้ นักวิจัยถามตรงๆ กับกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับประสบการณ์ที่มีต่อ “ความหมาย” และ “ความสุข” โดยใช้สเกลวัด 7 ระดับ ว่า พวกเขามีชีวิตที่มีความหมายและเป้าหมายหรือไม่ (1 คือ ไม่เลย และ 7 มีแน่นอน)
และถามด้วยว่า พวกเขาคิดว่าตัวเองเป็นคนที่มีความสุขหรือไม่ (1 คือ ไม่ใช่คนที่มีความสุขมากเลย และ 7 คือ คนที่มีความสุขมากคนหนึ่ง)
ในเรื่องสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมรายบุคคล ใช้สเกลของ MacArthur ซึ่งใช้ภาพบันไดทางสังคม และให้แต่ละคนเลือกขั้นที่คิดว่าตัวเองอยู่ โดยให้คิดว่า นี่คือบันได 9 ขั้น แทนกลุ่มคนในประเทศของตัวเอง และคิดว่าตัวเองอยู่ตรงไหน
ขั้นบนสุด หรือ ขั้น 9 คนที่เยี่ยมที่สุด คือ เงินมากที่สุด, การศึกษาดีที่สุด และมีงานที่ยอดเยี่ยม ส่วนขั้น 1 คนที่แย่ที่สุด คือ มีเงินน้อยที่สุด, การศึกษาต่ำที่สุด และมีงานแย่ที่สุด หรือไม่มีงานทำ
ผลวิจัยพบว่า มีปฏิสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่างสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมและความหมายที่มีต่อความสุขของคน โดยคนที่มีสถานะทางสังคมต่ำ จะเห็นว่า ความหมายมีความสัมพันธ์กับความสุขมากกว่า เมื่อเทียบกับคนที่มีสถานะทางสังคมปานกลาง หรือมีสถานะทางสังคมสูง และเมื่อมีการพิจารณาเรื่องตัวแปรอายุ ก็ได้ผลเช่นเดียวกัน
จากงานวิจัยทั้ง 3 ชิ้นนี้ แสดงให้เห็นว่า แม้ระดับความแข็งแกร่งของความสัมพันธ์ระหว่าง “ความหมาย” และ “ความสุข” จะแตกต่างกันสำหรับคนในแต่ละประเทศ และการใช้เครื่องมือชี้วัดต่างกัน แต่ผลที่ออกมาก็สอดคล้องกันคือ “ความหมาย” และ “ความสุข” จะมีความสัมพันธ์กันน้อยลง สำหรับคนที่มีรายได้สูง เมื่อเทียบกับคนรายได้ต่ำ
เหตุที่เป็นแบบนี้ก็เพราะ คนมีรายได้สูงสามารถหาความสุขจากแหล่งอื่นๆ ได้มากกว่า ทำให้พวกเขาพึ่งพาความรู้สึกของ “ความหมาย” ที่สร้างขึ้นภายในน้อยลงในการที่จะทำให้พวกเขามีความสุขมากขึ้น
ดูผลวิจัยกันแล้ว ลองย้อนกลับมาถามตัวเองว่า “ความสุข” ของเรามาจากไหน? ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ยากลำบากแบบนี้ คุณสร้าง “ความสุข” ได้อย่างไร