เรื่องต้องรู้ก่อนเป็นหนี้ จำนำ vs จำนอง vs ขายฝาก
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
‘จำนำ vs จำนอง vs ขายฝาก’ แตกต่างกันยังไง?
มาทำความเข้าใจให้ดี ก่อนจะนำทรัพย์สินแปลงเป็นเงินก้อน
ทางเลือกสำหรับคนร้อนเงิน อยากได้เงินก้อนมาใช้จ่าย โดยนำทรัพย์สินที่มีมาแปลงเป็นเงินก้อน หลักๆ มีอยู่ 3 ทางเลือก ซึ่งต้องเข้าใจความต่างก่อนตัดสินใจเลือก ดังนี้
ลักษณะธุรกรรม
- จำนำ / จำนอง: เป็นการกู้ยืมเงิน โดยนำทรัพย์สินไปเป็นหลักประกันในการกู้ยืม
- ขายฝาก: เป็นการขายทรัพย์สินให้กับอีกฝ่าย เพื่อรับเงินก้อนค่าขายฝาก โดยที่มีกำหนดเวลาที่สามารถซื้อคืนหรือไถ่ถอนตามจำนวนเงินและภายในเวลาที่กำหนด
ทรัพย์สินที่นำมาแปลงเป็นเงิน
- จำนำ: เฉพาะสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ เช่น เครื่องประดับ ของใช้ สิ่งของมีค่าต่างๆ ฯลฯ
- จำนอง: ได้ทั้งอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน คอนโด ที่ดิน ฯลฯ และสังหาริมทรัพย์บางประเภท เช่น รถยนต์ รถพ่วง รถแทรคเตอร์ที่จดทะเบียนแล้ว ฯลฯ (สังหาริมทรัพย์อื่น ไม่สามารถจำนองได้)
- ขายฝาก: เฉพาะอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น เช่น บ้าน คอนโด ที่ดิน ฯลฯ
กรรมสิทธิ์ระหว่างเป็นหนี้
- จำนำ: ส่งมอบทรัพย์สินให้เจ้าหนี้ถือครองเพื่อเก็บรักษา หรือเจ้าหนี้จะนำไปใช้สอยก็ได้
- จำนอง: ลูกหนี้ยังคงถือกรรมสิทธิ์ ถือครอง และใช้สอยทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันนั้น
- ขายฝาก: กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกเป็นของเจ้าหนี้นับตั้งแต่เริ่มต้นสัญญา โดยลูกหนี้มีสิทธิขอซื้อคืนในจำนวนเงินและภายในเวลาตกลงกันไว้ ส่วนการถือครองหรือใช้สอยจะเป็นของฝ่ายใด ขึ้นกับข้อตกลง
หากผิดนัดชำระหนี้
- จำนำ: กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะตกเป็นของเจ้าหนี้ โดยเจ้าหนี้จะนำไปขายหรือเก็บเป็นทรัพย์สินส่วนตัวก็ได้
- จำนอง: เจ้าหนี้สามารถติดตามและฟ้องร้อง เพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้ หากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้สามารถนำทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันไปขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ที่ค้างได้
- ขายฝาก: หากลูกหนี้ไม่สามารถซื้อคืนหรือไถ่ถอนได้ ภายในระยะเวลาที่ตกลงกัน เจ้าหนี้สามารถขายต่อทรัพย์สินนั้นให้ผู้อื่น หรือปฏิเสธการขอซื้อจากลูกหนี้ได้
เมื่อใดที่ร้อนเงิน หากไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาการพิจารณาวงเงินหรือประวัติด้านหนี้สินที่ผ่านมา การขอสินเชื่อผ่านระบบธนาคารมักเป็นทางเลือกที่อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าและเงื่อนไขสัญญาเป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้มากกว่าสินเชื่อนอกระบบ ดังนั้นหากต้องการเงินกู้ แนะนำให้พิจารณาตามลำดับ ดังนี้
- มีอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน คอนโด ที่ดิน ฯลฯ ควรเลือกขอกู้ด้วยการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์
- มีรถยนต์ ควรเลือกขอกู้ด้วยการจำนองหรือจำนำรถยนต์
- มีสังหาริมทรัพย์อื่น ควรเลือกขอกู้ด้วยการนำทรัพย์สินที่มีไปจำนำ
- สำหรับการขายฝาก อาจเป็นทางเลือกท้ายๆ ที่จะพิจารณา เพราะมีความเสี่ยงสูงที่ลูกหนี้จะเสียกรรมสิทธิ์ได้ง่ายกว่าทางเลือกอื่น หากเกิดการผิดนัดชำระหนี้
‘หนี้’ ใครๆ ก็ไม่อยากมี แต่เมื่อถึงคราวจำเป็นและเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ การเลือกกู้ด้วยทางเลือกดอกเบี้ยต่ำที่สุดที่เป็นไปได้ จะเป็นสิ่งที่ช่วยลดภาระดอกเบี้ยได้ในระยะยาว แต่การมีวินัยการเงินและมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเพื่อไม่ให้เป็นหนี้ เป็นสิ่งที่จำเป็นและควรทำยิ่งกว่า
