×

Wealth Me Up ใช้แรงทำเงิน

4 เคล็ดลับ สลัดตัวขี้เกียจทิ้งไป

6,673

 

“โรคขี้เกียจทำงาน” นับเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวสำหรับมนุษย์เงินเดือน โดยเฉพาะเมื่อได้หยุดยาวในเทศกาลต่างๆ พอถึงเวลาต้องกลับมาทำงาน กลับเกิดอาการขี้เกียจขึ้นมาซะอย่างนั้น

 

ความขี้เกียจ คือ หนึ่งในศัตรูตัวร้าย ที่จะขัดขวางไม่ให้เราไปถึงเป้าหมาย ยิ่งหากปล่อยให้มันเกาะติดตัวไปนานๆ อาจทำให้เรากลายกลายเป็นคนหยุดนิ่ง เฉื่อยชาไปเลยก็ได้

 

ดังนั้น เมื่อเกิดอาการขี้เกียจขึ้น เราจึงต้องรีบสลัดทิ้งไปให้ได้โดยด่วน ด้วยเคล็ดลับง่ายๆ 4 ข้อนี้

 

1.ดูแลร่างกายและจิตใจ

ถ้ารู้สึกขี้เกียจ  อาจเป็นเพราะร่างกายและจิตใจยังไม่พร้อม จึงควรหาวิธีสร้างพลังให้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ดังนี้

 

– นอนเป็นเวลา ควรนอนหลับให้ได้วันละ 8 ชั่วโมง และพยายามนอนให้ตรงเวลาทุกวัน เพราะการเข้านอนไม่เป็นเวลาหรืออดนอน อาจส่งผลให้หมดเรี่ยวแรงและขี้เกียจได้

 

– ออกกำลังกายเป็นประจำ เริ่มง่ายๆ ด้วยการเดินเร็วๆ ก็จะช่วยเพิ่มพลัง และทำให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟิน ซึ่งช่วยให้อารมณ์ดี กระตุ้นให้คุณรู้สึกอยากออกไปทำบางสิ่งบางอย่างให้สำเร็จ

 

– กินอาหารที่มีประโยชน์ การกินอาหารไม่ครบหมวดหมู่ อาจส่งผลให้ร่างกายอ่อนล้า และความรู้สึกขี้เกียจก็จะตามมา ทางที่ดีควรพยายามงดพวกอาหารขยะ(Junk Foods) และหันมากินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบมื้อทุกวัน

 

– พบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ หากทำตาม 3 ข้อข้างต้นแล้ว ยังรู้สึกขาดเรี่ยวแรงและขี้เกียจอยู่ นั่นอาจเกิดจากภาวะซึมเศร้าหรือปัญหาสุขภาพจิตร้ายแรง เช่น โรคสมาธิสั้น จึงควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

 

2.สร้างความรู้สึกดีๆ ให้ตัวเอง

ความรู้สึกขี้เกียจ เฉื่อยชา มักเกี่ยวข้องโดยตรงกับความรู้สึกที่เรามีต่อตัวเองหรือชีวิต และนี่คือวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้เกิดความรู้สึกดีๆ ขึ้นได้

 

– ทำความสะอาดบ้านและที่ทำงาน บ่อยครั้งที่การจัดบ้านและที่ทำงานให้แลดูสะอาด เป็นระเบียบ ไม่รกรุงรัง เปรียบเสมือนการหยิบความยุ่งเหยิงออกจากใจ ซึ่งจะช่วยให้คุณรู้สึกมีพลัง อยากทำงานมากยิ่งขึ้น

 

– เริ่มต้นวันด้วยการพูดเรื่องดีๆ กับตัวเอง เช่น “วันนี้ฉันจะเคลียร์งานที่ได้รับมอบหมายมาให้เสร็จ”

 

– ฟังดนตรีเร้าใจ เช่นดนตรีที่ใช้ประกอบการออกกำลังกาย เช่น การเต้นแอโรบิค จะกระตุ้นให้เกิดพลังและความกระปรี้กระเปร่า เพื่อเริ่มต้นวันใหม่ได้อย่างแจ่มใส

 

– เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม สภาพแวดล้อมที่แตกต่าง มีผลทำให้ผลงานที่เกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น ถ้าพยายามทำงานชิ้นหนึ่งในห้องนอน ก็มีแนวโน้มที่อยากเอนตัวลงนอน มากกว่านั่งทำงาน เป็นต้น

 

– อยู่ท่ามกลางคนคิดบวก อยู่ใกล้คนแบบไหน ก็จะมีพฤติกรรมคล้ายคนแบบนั้น จึงควรพาตัวเองเข้าไปคลุกคลีกับกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จและเป็นแรงบันดาลใจ เพราะพลังด้านดีจากคนเหล่านั้นจะเผื่อแผ่มายังเราด้วย

 

– บอกเป้าหมายของตัวเองให้คนอื่นรับรู้ ถ้ากำลังคิดจะเปลี่ยนงานหรือเรียนต่อ จงบอกให้คนรอบข้างรับรู้ เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้คุณขี้เกียจไม่ได้ และเป็นเงื่อนไขว่าคุณต้องทำให้สำเร็จ

 

– ไม่ต้องเป๊ะเสมอไป ความสมบูรณ์ไร้ที่ติ มักเป็นหนึ่งในข้ออ้างหลักๆ ที่ทำให้เราไปไม่ถึงความสำเร็จ

 

3.จัดแบ่งเวลาให้ลงตัว

หากมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องทำ จนไม่รู้จะเริ่มต้นทำอันไหนก่อนดี ลองทำตามวิธีต่อไปนี้ ที่จะช่วยให้คุณจัดสรรเวลาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

– เขียนรายการสิ่งที่ต้องทำ เมื่อมีหลายเรื่องที่ต้องทำในแต่ละวัน ควรเขียนลำดับความสำคัญของงานลงบนกระดาษ เพื่อช่วยให้เห็นถึงเรื่องที่สำคัญที่สุดที่ต้องทำ ดังนี้ “สิ่งที่ต้องทำ” “สิ่งที่ควรทำ” และ “สิ่งที่น่าจะทำ”

 

– ทำตามกำลัง อย่าเหมางานทั้งหมดมาทำเอง เพราะงานที่มากเกินกำลัง จะทำให้รู้สึกขี้เกียจ จนไม่อยากทำ ขอให้เลือกเพียง 1-2 เรื่อง และทุ่มเททำมันให้สำเร็จ

 

– ย่อยงานเป็นชิ้นเล็กๆ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยหลีกเลี่ยงความรู้สึกว่ากำลังทำงานชิ้นใหญ่ คือ การย่อยงานเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วลงมือทำแต่ละชิ้นให้สำเร็จ

 

– ขีดเส้นตาย หากมีโครงการที่ต้องทำ แนะนำให้ขีดเส้นตายว่า ต้องทำให้เสร็จเมื่อไหร่ เพื่อจะได้ไม่ต้องเร่งรีบตอนใกล้ถึงกำหนดส่ง

 

4.ใช้เวลาอย่างมีคุณค่า

เวลาเป็นของมีค่า จึงต้องรู้วิธีจัดการ เพื่อขจัดความขี้เกียจ และใช้เวลาในแต่ละวันให้คุ้มค่า

 

– ใช้เวลาว่างเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หาเวลาว่างทำงานอดิเรกหรือสิ่งที่สนใจใหม่ๆ บ้าง เพื่อช่วยเติมเต็มชีวิตให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 

– ทำทันที หากมีงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำ อย่าเลื่อนไปจนถึงวันหยุด ค่อยลงมือทำ

 

– ขจัดโรคเลื่อน ต้องรู้ถึงสิ่งที่ทำให้เราผัดผ่อนงานออกไป และกำจัดมันทิ้งซะ เช่น หากเป็นคนติดหน้าจอคอมพิวเตอร์ ก็ย้ายไปทำงานในห้องที่ไม่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ หรือหากกำลังติดเล่นไลน์ ก็ปิดโทรศัพท์มือถือขณะทำงาน เป็นต้น

 

ตรงต่อเวลา ถ้าตั้งใจว่า จะเริ่มต้นทำงานเวลา 9 โมงเช้า ก็ต้องทำตามนั้น อย่าเลื่อนเวลาออกไป

 

– กำหนดเวลาทำงานและหยุดพัก เป็นเรื่องปกติที่การทำงานต้องมีช่วงเวลาหยุดพักบ้าง แต่ควรกำหนดไว้ เช่น ตั้งกฎว่า เมื่อทำงานครบทุก 50 นาที จะหยุดพัก 10 นาที เป็นต้น

 

– มีวินัย หากเปรียบความขี้เกียจคือโรค ต้องบอกว่า ปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาด มีเพียงหนทางเดียวที่จะกำจัดได้ คือ มีความตั้งใจ และมีวินัยต่อตัวเอง

 

#WealthMeUp

 

กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

Related Stories

amazon anti fatigue mats