×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

5 หนทางสู่ “เกษียณสุข”

5,923

 

เวลาเกษียณไปแล้ว ทุกคนก็อยากมีความสุขกาย สุขใจ และที่ขาดไม่ได้เห็นจะเป็นอยากมีเงินเก็บเอาไว้ใช้แบบเหลือๆ ไปจนถึงวันสิ้นลมหายใจ ถ้าเป็นแบบนี้ ไปดูกันว่า หากต้องการมีเส้นทางเกษียณที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ ต้องทำอย่างไรบ้าง

1.เลือกวันเกษียณ

บางคน สัญญากับตัวเองว่าอายุ 50 ปีเมื่อไหร่จะลาออกจากงานทันที แต่พอถึงวันนั้น (อายุครบ 50 ปี) ยังเพลิดเพลินเจริญใจกับการทำงาน แถมไฟแรงเพิ่มมากขึ้น ถ้าเป็นแบบนี้ก็ควรยืดอายุการเกษียณออกไปก่อน เพราะถ้าทำตามสัญญา พอเกษียณออกไปอาจคิดถึงงานที่เคยทำหรือถึงขั้นไม่มีความสุข ครั้นจะกลับมาทำงานใหม่อาจไม่มีที่ทางแล้ว

ไม่ผิดถ้าวางแผนเพื่อเกษียณแล้วสามารถทำตามแผนได้ แต่พอถึงเวลาถ้ารู้สึกว่ายังมีแรง มีไฟในการทำงาน “ความยืดหยุ่น” อาจทำให้ชีวิตดีขึ้นกว่าเดิมก็ได้  

 

2.คำนวณค่าใช้จ่ายต่อเดือน

ไม่มีใครรู้หรอกว่า หลังเกษียณไปแล้วจะใช้จ่ายในแต่ละเดือน แต่ละปีเท่าไหร่ แต่ก็ต้องรู้ให้ได้ เพื่อเตรียมเงินให้เพียงพอ โชคดีที่มีสถิติออกมาว่าค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณจะอยู่ที่ราว 70 – 80% ของค่าใช้จ่ายต่อเดือนก่อนเกษียณ เช่น ก่อนเกษียณมีค่าใช้จ่าย 20,000 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณจะประมาณ 14,000 – 16,000 บาทต่อเดือน หรือราวๆ 190,000 – 200,000 บาทต่อปี

สมมติว่าวางแผนเกษียณตอนอายุ 60 ปี ก็นับไปว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกกี่ปี เช่น คาดว่าจะมีชีวิตไปถึง 85 ปี แสดงว่ามีชีวิตหลังเกษียณ 25 ปี ก็เอา 200,000 คูณ 25 เท่ากับ 5 ล้านบาท หมายความว่า ต้องมีเงินอย่างน้อยๆ 5 ล้านบาทก่อนจะเกษียณ

 

3.ตรวจสอบสิทธิประกันสังคม

ก่อนเกษียณ ต้องตรวจสอบดูว่าจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมถูกต้องหรือไม่ สามารถโทรไปสอบถามเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม ว่าตอนนี้สถานะเราเป็นอย่างไร รวมถึงข้อมูลอื่นๆ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับหลังจากเกษียณไปแล้ว หรือตรวจสอบผ่านทางเว็บไซต์ www.sso.go.th

 

4.เช็คกระแสเงินสด

ก่อนเกษียณ จดรายการที่คิดว่าหลังเกษียณไปแล้วจะต้องใช้จ่ายอะไรบ้าง แต่ละรายการต้องใช้เงินกี่บาท เช่น ค่าอยู่ ค่ากิน ค่าน้ำ ค่าไฟ เพื่อให้การวางแผนมีความแม่นยำว่าจะในแต่ละวัน ละเดือน ต้องจ่ายอะไรบ้าง อะไรที่ควรจ่าย อะไรไม่ควรจ่าย เพราะถ้ารู้ล่วงหน้าจะทำให้ชีวิตหลังเกษียณเข้าที่เข้าทางมากขึ้น

 

5.หาช่องทางเก็บเงิน

ก่อนเกษียณ เรื่องที่ทุกคนต้องทำคือ วางแผนการออม การลงทุน วางแผนภาษี เป็นต้น เพื่อทำให้ชีวิตหลังเกษียณไม่ขาดตกบกพร่องเรื่องเงิน เรื่องทอง จะออมผ่านกองทุน RMF กองทุนรวมทั่วไป หรือหุ้น ก็ขึ้นอยู่กับตัวเองว่าจะวางแผนอย่างไร ในแต่ละปีควรได้ผลตอบแทนระดับไหนก็ต้องประเมิน ถ้าเห็นว่าเริ่มผิดพลาดก็ต้องปรับให้กลับมาเข้าที่เข้าทาง

การวางแผนเพื่อวัยเกษียณเป็นเรื่องไม่ยาก หากเริ่มต้นถูกที่ ถูกเวลา จากนั้นก็เดินตามแผนที่วางเอาไว้ ถ้าระหว่างทางเกิดความผิดพลาดก็ปรับปรุงแก้ไข หาทางออก ถ้าทำได้รับรองพอถึงวันเกษียณจะมีความสุขที่สุด

 

#WealthMeUp

 

กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

Related Stories

amazon anti fatigue mats