6 วิธี รับมือภาษีสังคม
เมื่อมนุษย์เป็น “สัตว์สังคม” เราจึงมีรายจ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่เรียกกันว่า “ภาษีสังคม” ที่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในระดับสูงเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นงานแต่ง งานบวช งานวันเกิด งานศพ งานขึ้นบ้านใหม่ และอีกมากมาย
ต่อไปนี้คือ 6 วิธี ที่จะวางแผนรับมือกับรายจ่ายประเภทนี้ เพื่อคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์กับคนในสังคม และไม่เดือดร้อนตัวเองมากจนเกินไป
1.จ่ายเท่าที่จำเป็น | รู้จักปฏิเสธ
ปกติมนุษย์จะมีเพื่อนและมีสังคมอยู่หลายกลุ่ม หลายเครือข่าย แต่อย่าลืมว่าในความเป็นจริงนั้น เราไม่จำเป็นต้องสนิทกับทุกคนทุกกลุ่ม ในหลาย ๆ กิจกรรมที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็ต้องรู้จักเอ่ยปากปฏิเสธให้เป็นอย่างถนอมน้ำใจ เพราะการที่เราไปทุกงานเฮไหนเฮนั่น จะเป็นการสร้างพฤติกรรมทางการเงินที่ไม่ดี ผลาญเงินในกระเป๋าไปกับยอดภาษีสังคมแบบไม่รู้ตัว
2.อย่าหน้าใหญ่ | จ่ายพอดีๆ
ไม่จำเป็นเสมอไปว่าจ่ายหนักแล้วคนอื่นจะมองว่าเราเป็นคนดี เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องหน้าใหญ่ใจโตกับการจ่ายเพื่อเข้าสังคม จ่ายพอดี ๆ แบบไม่ต้องเดือดร้อนเงินในกระเป๋าจะดีกว่า และบางครั้งหากไม่มีจริงๆ ก็บอกเพื่อนฝูงไปตรงๆ ว่าจ่ายได้แค่ตามกำลังที่มี ควรรู้จักหยุดความเกรงใจคนอื่น เพื่อจัดการกับรายจ่ายประเภทภาษีสังคมไม่ให้กระทบกับเงินออม
3.ใจเขาใจเรา | อย่าบังคับให้ใครจ่าย
เมื่อรู้จักหยุดเกรงใจคนอื่นแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืม คือเราก็ต้องเกรงใจคนอื่นเช่นเดียวกัน อย่ายัดเยียดให้ใครต้องมาจ่ายภาษีสังคมให้กับเราแบบเกินกำลัง จะได้ไม่ต้องลำบากใจ เมื่อใครๆ มายัดสารพัดซองให้ เพราะเราก็เคยไปยื่นสารพัดซองให้เขาเหมือนกัน
4.ทำบุญไม่ได้มีแค่ในรูปแบบเงิน | ลงแรงก็ได้บุญ
ภาษีสังคมบางทีก็มาในรูปแบบการบอกบุญ จงจำไว้ว่าบางครั้งการทำบุญก็ไม่ได้มีแต่เฉพาะการลงเงิน แต่การลงแรงก็เป็นอีกหนทางหนึ่ง อย่าไปคิดว่าทำบุญด้วยเงินน้อยจะไม่ได้บุญ ขึ้นชื่อว่าบุญหากทำด้วยใจเป็นสุขและได้บุญทุกคน เพราะฉะนั้นภาษีสังคมในรูปแบบการบอกบุญ เราอาจอาสาไปช่วยออกแรง ไม่ต้องออกเงินก็ได้ หรือออกเงินตามกำลังที่มีก็พอ
5.ตั้งเป้าวงเงินภาษีสังคมต่อเดือน | ให้สัมพันธ์กับรายรับและเงินออม
ลองกำหนดเป้าหมายเป็นตัวเลขในแต่ละเดือนไว้เลย ว่าจะจ่ายเงินเป็นภาษีสังคมเท่าไหร่ต่อเดือน โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์กับรายรับและวงเงินเงินออม บางคนอาจมีกำลังในการจ่ายภาษีสังคมได้มากกว่าคนอื่น เพราะมีรายได้ที่สูง บางคนกำหนดน้อยลงไปหน่อยเพราะรายรับน้อยกว่า
6.จ่ายแล้วจดบันทึก | บริหารจัดการไม่ให้เกินงบ
การจดบันทึกจะช่วยให้เราสามารถบริหารและจัดการภาษีสังคมได้อย่างดีเยี่ยม เพราะเป็นการรับมือการใช้จ่ายไม่ให้เกินงบที่กำหนดไว้ และสิ้นปีก็ลองมาคำนวณดูว่าภาษีสังคมเท่ากับเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับภาษีเงินได้
ภาษีสังคมขึ้นชื่อว่าเป็นรายจ่ายที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ก็สามารถวางแผนและรับมือได้เพื่อสุขภาพทางการเงินที่ดี การเข้าสังคมจึงต้องจำกัดรายจ่ายให้พอประมาณ สมกับฐานะของเรา เพื่อไม่ให้กระทบกับเงินออมของเราด้วย
กด Subscribe รอเลย…