×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

6 สิ่งที่ถ้าทำได้ วัยเกษียณจะมีความสุขมาก

21,804

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

หลายๆ คนไอเดียพุ่งเกินร้อยเพื่อเตรียมตัวกับการใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว , มีบ้านที่ต่างจังหวัด , มีสวนหลังบ้านให้ปลูกผัก , ได้ทำงานอดิเรกที่ตัวเองรัก ซึ่งแน่นอนว่าการเตรียมเงินทองให้พร้อมนับเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งที่ทำให้ฝันกลายเป็นจริง

 

แต่ทุกวันนี้ ยังมีคนวัยทำงานหลายคนที่ไม่เห็นความสำคัญ หรือยังไม่เริ่มต้นการเก็บเงินเก็บทองเพื่อเตรียมไปใช้หลังวัยเกษียณ แต่กลับวาดฝันการใช้ชีวิตสวยหรูช่วงบั้นปลาย ชนิดที่ว่าพอได้ยินแล้วได้นึกในใจว่า “เก็บเงินก่อนดีมั้ย แล้วค่อยฝัน”

 

นี่คือ 6 สิ่งที่ถ้าทำได้ การันตีได้เลยว่าคุณจะมีความสุขมากกับชีวิตหลังวัยเกษียณ

 

1.กำจัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป

สมมติว่าวันนี้อายุ 40 ปี มีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่อิสระ โดยเฉพาะการใช้เงิน เพราะเป็นวัยที่มีกำลังจ่ายค่อนข้างสูง อยากทานอะไรก็ทาน อยากเที่ยวไหนก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก ดังนั้น หากเริ่มต้นวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณก็ควรเริ่มต้นลดการใช้จ่ายบางสิ่งบางอย่างที่ไม่จำเป็นด้วย เพราะไม่เช่นนั้นแล้วความฟุ่มเฟือยจะติดตัวไป และลองจินตนาการว่าถ้าเราอยู่ในวัย 60 กว่าๆ แล้วเด็กรุ่นลูกรุ่นหลานเดินมาเตือนให้เราเพลาๆ เรื่องการใช้เงิน เราจะทำตามได้หรือไม่ เราอาจจะเข้าข่าย “ไม่แก่ดัดยาก”
ดังนั้น ควรตัดไฟแต่ต้นลม ด้วยการลด ละ เลิก การหมดเงินไปกับสิ่งฟุ่มเฟือย เช่น ช้อปปิ้งให้น้อยลง ท่องเที่ยวต่างประเทศหัวปีท้ายปี ก็ปรับเป็น 2 ปีไปครั้ง ใช้บัตรเครดิตให้มีวินัย หนี้สินให้ลดลงเรื่อยๆ (พยายามอย่าก่อหนี้ก้อนใหม่)  

 

2.เก็บเงินให้เร็วที่สุด

“เก็บก่อน รวยก่อน” ยังคงใช้ได้ตลอดเวลา ถ้าเป็นไปได้ควรแบ่งเงิน 10% ของเงินเดือนไปฝากออม หรือไปลงทุนกันตั้งแต่เดือนแรกที่เป็นมนุษย์เงินเดือน และพอรายได้เพิ่มมากขึ้นก็เพิ่มเงินออมตามไปด้วย ถ้าทำอย่างนี้ได้ทุกเดือน บอกเลยว่าหลังเกษียณมีกินมีใช้ไม่ขาดมือแน่นอน เผลอๆ มีเหลือให้ลูกหลานอีกด้วย

 

3.เลือกช่องทางการออม

มีหลายคนเข้าใจว่าเงินออม ลงทุนที่เตรียมเอาไว้ใช้ตอนแก่เฒ่าต้องปลอดภัยสุดๆ ดังนั้น ช่องทางการเก็บก็หนีไม่พ้นพันธบัตรรัฐบาล ไม่ผิดที่จะคิดและลงมือทำแบบนี้ แต่ผลตอบแทนที่ได้ก็อยู่ในระดับต่ำเช่นเดียวกัน และอาจไม่เพียงต่อความต้องการ

 

ยังมีอีกหลายช่องทางเพื่อให้เงินทำงานอย่างเต็มที่ และมีความปลอดภัยในระดับรับได้ เช่น กองทุนรวมหุ้น หุ้นปันผล และนอกเหนือจากนี้ไม่ควรละเลยกองทุนรวม LTF และ RMF รวมถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีด้วย

 

4.แปลงโบนัสเป็นเงินเก็บ

ใครที่ได้รับโบนัสทุกๆ สิ้นปี อย่าพึ่งนำไปใช้จ่าย ไปฉลอง หักห้ามใจกันสักเล็กน้อยด้วยการแปลงเป็นเงินเก็บสัก 30% ของเงินโบนัส เช่น โบนัส 50,000 บาท ก็กันไปเก็บ 15,000 บาท ที่เหลือค่อยนำไปจ่ายหนี้ ให้คุณพ่อแม่ ซื้อของขวัญให้ตัวเองและคนที่เรารัก เลี้ยงฉลองกับเพื่อนๆ

 

เงินโบนัสคือ เงินที่บริษัท (นายจ้าง) จ่ายให้พนักงานเป็นพิเศษปีละครั้ง ถ้าแปลงให้เป็นเงินเก็บก็จะพิเศษเช่นเดียวกันและทำให้เงินเก็บเพิ่มพูนเร็วขึ้น ยกตัวอย่าง ปกติเก็บเงิน 2,000 บาทต่อเดือน (ปีละ 24,000 บาท) ถ้ากันเงินโบนัสมาออม 15,000 บาท เท่ากับได้เก็บเดือนละ 1,250 บาท (15,000 หาร 12) และเมื่อรวมกับเงินที่ออมทุกเดือน เหมือนกับว่าได้เก็บเดือนละ 3,250 บาท (2,000 + 1,250) สิ้นปีมีเงินเก็บ 49,000 บาท

 

5.ยอมเสี่ยงบ้าง

“เสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนก็ต่ำ เสี่ยงสูงขึ้น ผลตอบแทนก็ย่อมสูงตาม” หมายความว่าต้องยอมแบ่งเงินบางส่วนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นบ้าง เช่น กองทุนรวมหุ้น ซึ่งตามสถิติ 10 ปีที่ผ่านมา ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8 – 9% ต่อปี หรือซื้อหุ้นที่จ่ายปันผลสม่ำเสมอ 2 – 3 ตัว ก็จะได้เงินปันผลทุกปี และดอกผลที่ได้รับก็ต้องนำกลับไปลงทุนต่อ (ไม่ควรนำออกมาใช้จ่าย) ถ้าทำได้จะเกิดคำว่า “มหัศจรรย์ดอกเบี้ยทบต้น” และจะได้รับอิสรภาพทางการเงินเร็วขึ้น

 

6.ค้นหาจุดหมายปลายทาง

หลายๆ คนอาจจะรู้สึกว่าหากเกษียณด้วยการอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองหลักๆ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต โคราช อาจจะต้องใช้เงินเพื่อการดำรงชีวิตแต่ละเดือนในระดับสูง เพราะค่าครองชีพแพง ทางออกก็คงเป็นเมืองรองๆ ที่มีค่าครองชีพระดับต่ำลงมา

 

หากมีแผนแบบนี้ ก็ต้องเริ่มศึกษาหาข้อมูล และทดลองด้วยการเดินทางไปท่องเที่ยวในจังหวัดเป้าหมายว่าหากมาใช้ชีวิตแบบถาวรจริงๆ จะอยู่ได้หรือไม่ และสำรวจปัจจัยพื้นฐานว่าพร้อมหรือไม่ เช่น โรงพยาบาล ระบบขนส่ง สวนสาธารณะ ที่พักอาศัย เป็นต้น

 

ถ้าทำตามนี้ บั้นปลายชีวิตจะมีความสุข เผลอๆ สุขกว่าตอนนี้เสียอีก

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats