×

Wealth Me Up ใช้แรงทำเงิน

ทำธุรกิจแบบไหน...เสียภาษีน้อยที่สุด

5,906

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

“เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง” สุภาษิตที่เราคุ้นเคยกันดีมาตั้งแต่เด็กๆ หมายความว่า ถ้าเราเริ่มต้นได้ดี ถูกทาง เหมาะสม โอกาสที่เราจะประสบความสำเร็จก็มีมาก ความหมายก็คล้ายๆกับการกลัดกระดุมเม็ดแรกนั่นแหละ ถ้ากลัดเม็ดแรกถูกเม็ดถัดๆ ไปก็ถูกด้วย

 

การทำธุรกิจก็เช่นกัน การเลือกรูปแบบธุรกิจที่ถูกต้องเหมาะสมกับธุรกิจของเราก็มีผลต่อความสำเร็จของเราด้วยเช่นกัน และมีผลต่อภาษีเงินได้ที่เราต้องเสียด้วย แล้วอย่างนี้ การทำธุรกิจมีกี่รูปแบบ อย่างไรบ้าง แต่ละอย่าง มีข้อดี ข้อเสียด้านภาษีอย่างไร เรามาดูกันนะ

 

การทำธุรกิจสามารถทำได้ 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ

 

ธุรกิจประเภทบุคคลธรรมดา

 

ภาษีเงินได้ จะคิดจาก  คือ เงินได้สุทธิ ซึ่งเท่ากับ เงินได้พึงประเมิน-ค่าใช้จ่าย- ค่าลดหย่อน

 

โดยมีอัตราภาษีที่ก้าวหน้า (แพงขึ้นเรื่อยๆ) ตามฐานเงินได้สุทธิที่เพิ่มขึ้น

 

เราจะเสียภาษีเงินได้มากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับเงินได้สุทธิของเราเอง เราจะเห็นได้ว่าถ้าเงินได้สุทธิเรายิ่งสูง อัตราภาษีจะยิ่งแพง (สูงถึง 35% มากกว่า 1 ใน 3 ของเงินได้สุทธิเราอีก) ซึ่งเป็นข้อเสียที่สำคัญของการทำธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดา แต่อย่างไรก็ตาม เราก็สามารถทำให้เงินได้สุทธิน้อยลง ก็ทำได้ 3 วิธีหลักๆ คือ

 

  • ลดเงินได้
  • เพิ่มค่าใช้จ่าย
  • เพิ่มค่าลดหย่อน

 

ข้อดีของการทำธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา

 

  • มีค่าลดหย่อนที่จะช่วยให้เราประหยัดภาษีได้เยอะ เช่น เบี้ยประกันชีวิต เบี้ยประกันสุขภาพ RMF SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ
  • เลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ (ปัจจุบันไม่เกิน 60%) ช่วยประหยัดภาษีกรณีค่าใช้จ่ายจริงน้อยกว่า 60% ของเงินได้
  • ไม่ต้องจัดทำบัญชีตามพระราชบัญญัติ การบัญชี พ.ศ. 2543 ไม่ยุ่งยาก ประหยัดค่าทำบัญชี แต่ก็ทำให้เราขาดข้อมูลทางบัญชีในเชิงการบริหารจัดการและการดำเนินธุรกิจ ทำให้เราเสี่ยงที่จะผิดกฎหมายของกรมสรรพากรเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาฐานหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีที่เข้าข่ายกฎหมายฟอกเงินด้วย

 

ธุรกิจประเภทนิติบุคคล

 

ซึ่งสามารถเลือกได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น

 

  1. ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล
  2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด
  3. บริษัทจำกัด
  4. บริษัท(มหาชน) จำกัด

 

แต่ละรูปแบบก็ต่างกันตรงหุ้นส่วน ความรับผิดในหนี้สินของธุรกิจ ส่วนเรื่องการเสียภาษี เสียภาษีในรูปนิติบุคคลเหมือนกันหมด คือ ภาษีเงินได้ จะคิดจาก กำไรสุทธิ ซึ่งเท่ากับ รายได้-ค่าใช้จ่าย

 

ข้อดีของการทำธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา

 

อัตราภาษีสูงสุดอยู่แค่ 20% ดังนั้น ถ้าเรามีเงินได้สุทธิเยอะๆ ก็ควรเลือกทำธุรกิจในรูปนิติบุคคลจะดีกว่า และยิ่งทำในรูป SME จะยิ่งประหยัดภาษี เพราะ

 

  • กำไรสุทธิ 300,000 บาทแรก ยกเว้นภาษี
  • กำไรสุทธิ ช่วง 300,000 – 3 ล้านบาท เสียภาษีแค่ 15%
  • กำไรสุทธิส่วนที่มากกว่า 3 ล้านบาท ถึงเริ่มเสียที่อัตรา 20%

 

แต่จะเป็น SME ได้ ก็ต้องเข้าเงื่อนไข 2 ข้อ คือ

 

  • ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท
  • รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทในรอบระยะบัญชี

 

ส่วนข้อเสียที่หลายคนไม่อยากทำธุรกิจในรูปนิติบุคคล ก็คือ

 

  • หักค่าลดหย่อนไม่ได้เหมือนทำธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดา แต่ระยะหลังๆสรรพากรก็ตัดค่าลดหย่อนออกไปมาก อย่างเช่น ตัดค่าลดหย่อน LTF ออกไป ทำให้หมดสิทธิค่าลดหย่อนไปถึง 500,000 บาท
  • หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% ไม่ได้ ทำให้นิติบุคคลที่มีค่าใช้จ่ายที่จ่ายจริงน้อยกว่า 60% ของรายได้ มีกำไรสุทธิมากกว่าการทำธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดา
  • ต้องจัดทำบัญชีตามพระราชบัญญัติ การบัญชี พ.ศ. 2543 เสียค่าทำบัญชี (โดยเฉลี่ยแล้วค่าใช้จ่ายจะประมาณ 5,000 – 10,000 บาทต่อเดือน) และมีค่าผู้สอบบัญชีที่ต้องเสียตอนปลายปีอีกประมาณ 15,000 บาท แต่จริงๆ แล้วการจัดทำบัญชี จะทำให้เรามีข้อมูลทางบัญชีที่น่าเชื่อถือในแต่ละธุรกรรม ความเสี่ยงที่จะผิดกฎหมายของ กรมสรรพากรเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาฐานหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีก็น้อยลง

 

แล้วเงินได้สุทธิเท่าไหร่ดีถึงเริ่มน่าทำธุรกิจในรูปนิติบุคคล จากตารางอัตราภาษีเงินได้ จะเห็นนะว่าถ้าเงินได้สุทธิมากกว่า 1 ล้านบาท อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะมากกว่า 20% ดังนั้นการเลือกทำธุรกิจในรูปนิติบุคคลจะประหยัดภาษีมากกว่า

 

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats