พินัยกรรมเรื่องง่ายๆ ที่มักพลาด
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
พินัยกรรม เรื่องง่ายๆ ที่ทำได้เอง เพื่อให้ทรัพย์สินตกแก่บุคคลต่างๆ หลังจากเราเสียชีวิตลง แต่แม้เป็นเรื่องง่าย ก็มีสิ่งที่หลายคนมักทำพลาดกัน ได้แก่
พิมพ์และเซ็นชื่ออย่างเดียว
พินัยกรรมจากการปรินต์เป็นกระดาษออกมาและเซ็นชื่อลงไป ถือเป็น “พินัยกรรมแบบธรรมดา” ที่การเซ็นชื่อของเจ้าของพินัยกรรม ต้องทำต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน และพยานต้องเซ็นชื่อรับรองในพินัยกรรมนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นก็เสมือนว่าพินัยกรรมนี้ไม่เคยถูกทำขึ้น
ใช้ทายาทเป็นพยาน
พยานในพินัยกรรมและคู่สมรสของพยาน ไม่สามารถรับมรดกจากพินัยกรรมได้ เพื่อให้ทายาทและผู้มีส่วนได้เสียอื่น มั่นใจว่าพินัยกรรมนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์และทำโดยเจ้าของพินัยกรรมจริงๆ
การให้ญาติสนิท เช่น ลูก คู่สมรส ฯลฯ เซ็นชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม ทรัพย์สินส่วนที่ระบุยกให้พยานคนนั้นจะถูกตัดออกจากพินัยกรรม และถูกยกให้แก่ ทายาทโดยธรรม ซึ่งเป็นญาติต่างๆ ตามสัดส่วนที่ระบุในกฎหมายแทน ซึ่งอาจเป็นพยานที่ถูกตัดออกจากพินัยกรรมหรือไม่ก็ได้
ด้วยสถานการณ์ COVID-19 หากต้องให้บุคคลอื่นที่ไม่ได้อาศัยบ้านเดียวกันมาเป็นพยาน ก็อาจเสี่ยงจากโรคภัยได้ “พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ” เป็นทางเลือกที่ไม่ต้องมีพยาน เพียงแค่เจ้าของพินัยกรรมเป็นผู้เขียนด้วยลายมือตนเองทั้งฉบับ และเขียน วัน-เดือน-ปี ที่ทำพินัยกรรมไว้ก็เพียงพอ
ญาติชีวิตจริง ≠ ญาติทางกฎหมาย
หลายคนสับสนระหว่างญาติในชีวิตจริง และญาติในทางกฎหมาย เช่น
คู่สมรส ที่ “ไม่จดทะเบียนสมรส” แม้เป็นคู่ชีวิตที่จัดงานแต่งงานใหญ่โต อยู่กินกันมาหลายปี หรือมีลูกด้วยกัน หากเจ้าของทรัพย์สินเสียชีวิตลง คู่ชีวิต ก็เป็นเพียงคนรู้จัก ที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางกฎหมาย ไม่มีสิทธิรับมรดกหากไม่ใช่การรับโดยพินัยกรรม
บิดา ที่ “ไม่จดทะเบียนสมรสกับมารดาเจ้าของทรัพย์สิน” และ “ไม่จดรับรองเจ้าของทรัพย์สินเป็นบุตร” ซึ่งอาจเป็นเรื่องธรรมดาของหลายครอบครัว แต่หากเจ้าของทรัพย์เสียชีวิตลง บิดานั้นไม่มีสิทธิรับมรดกจากลูกหากไม่ใช่การรับโดยพินัยกรรม
ดังนั้น หากเจ้าของทรัพย์สินที่เป็นผู้อุปการะคู่สมรสหรือบิดา เสียชีวิตโดยไม่ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์สินจะตกสู่ญาติคนอื่นที่อาจไม่เต็มใจอุปการะคู่สมรสหรือบิดานั้นเหมือนเรา
ทรัพย์สินหลังสมรส
เจ้าของพินัยกรรมมีสิทธิจัดการทรัพย์สินที่เป็นของตนเองเท่านั้น ซึ่งนอกจากดูที่ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์แล้ว ต้องดูว่าเป็นสินสมรสด้วยหรือไม่ เพราะสินสมรสเป็นทรัพย์สินที่ สามีและภรรยา มีสิทธิกันคนละครึ่งหนึ่งเท่านั้น
เช่น ทำพินัยกรรมยกเงินฝาก 1 ล้านบาท ให้ น.ส.A ซึ่งเป็นเงินที่มาจากเงินเดือนหรือการทำงานหลังสมรส หรือพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีมาก่อนสมรส น.ส.A จะมีสิทธิรับมรดกจากพินัยกรรมเพียง 5 แสนบาทเท่านั้น อีกครึ่งหนึ่งถือเป็นสิทธิของคู่สมรสตามกฎหมาย
สินสมรส หลักๆ คือ ทรัพย์สินที่ได้มาหลังสมรสแล้ว ไม่ว่าจากการซื้อหรือเป็นดอกผลจากทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วก็ตาม แต่หากทรัพย์สินนั้นได้มาโดยมรดกหรือเสน่หาหากไม่ได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่นก็ถือเป็นสินส่วนตัว
พินัยกรรม เรื่องง่ายๆ ที่เขียนขึ้นได้ด้วยลายมือตนเอง เพื่อให้ทรัพย์สินถูกจัดการอย่างที่ตั้งใจ ในวันที่เราไม่มีโอกาสจัดการได้ด้วยตนเอง