4 สิ่งต้องทำ เพื่อบรรลุเป้าหมายการเงิน
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
หลายเป้าหมายการเงินที่พอเห็นจำนวนเงินของเป้าหมายแล้ว หลายคนอาจรู้สึกว่าไกลเกินตัวจนไม่แม้แต่คิดจะเริ่มต้น
ตัวอย่างเช่น หากต้องการใช้จ่ายหลังเกษียณเดือนละ 20,000 บาท ตั้งแต่อายุ 60-85 ปี ต้องเตรียมเงินถึง 6 ล้านบาท (ยังไม่คำนึงถึงเงินเฟ้อ) ซึ่งหากเริ่มต้นเก็บเงินทุกเดือนตั้งแต่อายุ 30 ปี ในทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี ต้องเก็บหรือลงทุนเดือนละ 7,526 บาท ซึ่งอาจสูงหรือหนักเกินตัวสำหรับคนทำงานวัย 30 ปีบางคน แต่หากค่อย ๆ เริ่ม ค่อย ๆ ปรับ ไปตลอด 30 ปีที่ลงทุน เป้าหมายนี้ก็ไม่ได้ไกลเกินตัวอย่างที่คิด
‘เริ่ม’ เท่าที่ได้
ความสามารถเก็บเงินแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่อย่างน้อยควรตอบตัวเองได้ว่า วันเงินเดือนออกที่กำลังมาถึงสามารถกันเงินเก็บมาได้เท่าไร แบบที่ยังเพียงพอกับการใช้จ่ายประจำวัน
เช่น คนเงินเดือน 20,000-30,000 บาท การแบ่งเงินเก็บเดือนละ 2,000 บาท คงไม่ยากเกินไป ซึ่งแม้ยังไม่เพียงพอกับเป้าหมาย แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นในการออกเดินทาง
‘ลด’ รายจ่ายไม่จำเป็น
หลายอย่างที่ทุกคนรู้ว่าควรลด เช่น ค่าเที่ยว ค่าสังสรรค์ ค่าชอปปิง ฯลฯ แต่ก็มีหลายอย่างที่เราอาจมองข้าม เช่น
- ค่าแพ็กเกจมือถือ ที่วงเงินอาจมากเกินจำเป็น ในยุคที่คนโทรหากันผ่านแอปพลิเคชัน และการมี WiFi บ้าน ที่ทำงาน และที่สาธารณะให้ใช้กัน
- ค่าสมาชิกรายการโทรทัศน์ ที่แทบไม่มีใครดูรายการสดหรือตามผังรายการแล้ว แต่เลือกดูย้อนหลังหรือซีรีส์ที่ชอบจากแอปพลิเคชันแทน
หากลดค่าใช้จ่ายได้เดือนละ 200-1,000 บาท แล้วนำเงินไปลงทุนที่ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี ก็ช่วยให้การลงทุน 30 ปี ใกล้เป้าหมายขึ้นไปอีกประมาณ 160,000–800,000 บาท เลย
‘เก็บเพิ่ม’ เมื่อมีโอกาส
ด้วยรายได้และค่าใช้จ่ายปัจจุบัน อาจยังเก็บเงินได้ไม่มาก เช่น เดือนละ 2,000–4,000 บาท แต่เมื่ออายุมากขึ้น รายได้ก็มักสูงตาม อย่างพนักงานประจำที่เงินเดือนมักขึ้นทุกปี เมื่อเงินเดือนปรับขึ้นย่อมเก็บเงินได้เพิ่มตาม
เช่น เริ่มต้นลงทุนปีแรกเดือนละ 3,700 บาท และลงทุนเพิ่มขึ้นปีละ 5% (เช่น 3,918 บาท ในปีที่ 2) ในทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี ก็สามารถมีเงินก้อน 6 ล้านบาทได้ ในอีก 30 ปี
‘เริ่ม’ ทันที
เป้าหมายไม่มีวันไปถึง หากไม่เริ่มออกเดินทางด้วยการเก็บเงินหรือลงทุน ที่ปัจจุบันสามารถลงทุนได้ทันที ผ่าน Mobile Banking ของธนาคารที่ใช้อยู่บนมือถือ เช่น
- คนที่มีบัญชีกองทุนอยู่แล้ว สามารถลงทุนกองทุนที่ตนเองชอบได้ทันที รวมถึงบางธนาคารสามารถตั้งแผนลงทุนล่วงหน้าอัตโนมัติทุกเดือนได้ด้วย
- คนที่ยังไม่มีบัญชีกองทุน ธนาคารส่วนใหญ่สามารถเปิดบัญชีกองทุนบน Mobile Banking ที่ใช้อยู่ได้ทันที
- คนที่ต้องการลงทุนกองทุน บลจ.อื่น ที่ไม่ได้ขายผ่านธนาคารที่ใช้บริการอยู่ ก็สามารถ
-
- ดาวน์โหลด Mobile Banking ของธนาคารที่ต้องการ
- เปิดบัญชีเงินฝากธนาคารนั้น
- ยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล ด้วยบริการ NDID (National Digital ID) โดยไม่จำเป็นต้องมีบัญชีธนาคารนั้นมาก่อน
- เปิดบัญชีกองทุนและเริ่มลงทุนได้ทันที
เป้าหมายที่ไกลเกินตัว อาจดูยากที่ไปถึง แต่การเริ่มบ้างแม้บางส่วนเมื่อเวลาผ่านไปก็ช่วยให้ไปใกล้เป้าหมายนั้นได้ ต่างจากการไม่แม้แต่เริ่มต้นเก็บเงินเลยที่ไม่ว่าเวลาผ่านไปแค่ไหน เราก็ยังคงอยู่จุดเดิม ไม่ใกล้เป้าหมายขึ้นเลยแม้แต่นิดเดียว