GDP ไทย Q2/67 โต 2.3% คาดทั้งปีโต 2.5%
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
GDP ไทย Q2/67 ขยายตัว 2.3%
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไตรมาส 2/2567 ขยายตัว 2.3% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.6% ในไตรมาสแรกของปี 2567 (%YoY) และเมื่อรวมครึ่งแรกของปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.9%
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการอุปโภคภาครัฐบาล การส่งออกสินค้าและบริการ และการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐปรับตัวลดลง 6.2%
คาด GDP ไทยปี 67 ขยายตัว 2.5%
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 2.3–2.8% โดยค่ากลางการประมาณการ 2.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจาก
1. การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
2. การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ
3. การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจาก การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
4. การกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก
โดยคาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.5% และ 0.3% ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว 2% อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.4–0.9% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.3% ของ GDP
ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย
- หนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในเกณฑ์สูงและมาตรฐานสินเชื่อที่มีความเข้มงวด
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก
การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2567 ควรให้ความสำคัญกับ
1. การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ
2. การขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน โดย (1) เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ (2) พัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย (3) เร่งรัดโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ (4) เพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง
3. การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม
4. การดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ประสบปัญหาการเข้าถึงสภาพคล่อง ควบคู่ไปกับการยกระดับศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs
5. การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว และเร่งรัดกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ไม่ให้เกิดความล่าช้า
6. การเตรียมการรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
7. การเตรียมมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบและใช้ประโยชน์จากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการค้าโลก