×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

ซื้อกองทุนต่างประเทศ FIFs มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

4,681

 

ปัจจุบันหนึ่งในกระแสการลงทุนหลักในอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของการลงทุนในต่างประเทศ ขนาดที่ล่าสุดมีประกาศจากธนาคารแห่งประเทศไทยในเรื่องของการขยายวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต เช่น กองทุนรวมและบริษัทหลักทรัพย์ จากวงเงินเดิม 75,000 ล้านดอลลาร์ เป็น 100,000 ล้านดอลลาร์ สะท้อนถึงความนิยมในการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของผู้ลงทุนไทยได้เป็นอย่างดี

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมกองทุน ที่เม็ดเงินลงทุนในต่างประเทศนั้นเติบโตมาตลอด ปัจจุบันมีเงินลงทุนกว่า 1.129 ล้านล้านบาท (ที่มา: สมาคมบริษัทจัดการลงทุน ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2560) และมีกองทุน FIFs เปิดขายใหม่อยู่ทุกสัปดาห์ ซึ่งในมุมของโอกาสทางการลงทุนและการกระจายความเสี่ยงก็ต้องยอมรับว่า FIFs เป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์นี้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากสินทรัพย์ในต่างประเทศมีความหลากหลายมากกกว่าสินทรัพย์ที่มีอยู่ในประเทศไทย ซึ่งความเสี่ยงและผลตอบแทนก็ไม่เท่ากัน

 

อย่างไรก็ตามการลงทุนในกองทุนประเภท FIFs นั้นใช่ว่าจะมีแต่ข้อดี ข้อด้อยก็มีด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งนั่นก็คือ เรื่องของค่าใช้จ่ายของกองทุนและค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ภายในประเทศ ซึ่งตรงจุดนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะถือเป็นต้นทุนของนักลงทุนนั่นเอง โดยหลักๆ แล้วมีค่าใช้จ่ายดังนี้  

 

 

1.ค่าธรรมเนียมการซื้อ/ขายหน่วยลงทุน

 

ถือเป็นต้นทุนที่ชัดเจนที่สุด เนื่องจาก บลจ. จะทำการเก็บค่าธรรมเนียมทุกครั้งเมื่อเกิดการซื้อหรือขายหน่วยลงทุนนั้นเอง สมมติว่า เราอยากลงทุนด้วยเงิน 1 ล้านบาท แต่กองทุนมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการซื้อหน่วยลงทุน 1% ดังนั้นเงินลงทุนที่แท้จริงของเราจะเหลือแค่ 990,000 บาทเท่านั้น ส่วน 10,000 นั้นถือเป็นค่าธรรมเนียมที่กองทุนเรียกเก็บซึ่งส่วนใหญ่ก็จะถือเป็นรายได้ของผู้ขายหน่วยลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ บลจ. ธนาคาร และบริษัทหลักทรัพย์ นั่นเอง

 

ซึ่งค่าธรรมเนียมดังกล่าวนี้จะไม่ถูกเรียกเก็บ ถ้าเป็นกองทุนที่ลงทุนภายในประเทศ แต่สำหรับกองทุน FIFs ส่วนใหญ่เรียกเก็บในอัตราที่ค่อนข้างสูงคือ 1-1.5% ซึ่งก็เป็นสิ่งที่นักลงทุนควรจะต้องพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน

 

2.ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของกองทุน (Total Expense Ratio)

 

ส่วนนี้ถือเป็นต้นทุนแฝงที่ถูกหักออกจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน (NAV) ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่มักจะมองข้ามไป ประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของกองทุนสำหรับกองทุน FIFs นั้นอยู่ที่ว่า นักลงทุนเหมือนจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าวนี้ 2 ต่อ เนื่องจากกองทุน FIFs นี้ส่วนใหญ่มากกว่า 80% เป็นการลงทุนในลักษณะที่เรียกว่า master-feeder โดยลงทุนผ่านกองทุนแม่ในต่างประเทศกองทุนเดียว

 

แล้วเราจ่ายค่าธรรมเนียม 2 ต่ออย่างไร?

 

ต่อที่ 1 ก็คือกองทุนรวม FIFs ไทยจ่ายให้กับกองทุน Master Fund ที่ไปลงทุน

ส่วนต่อที่ 2 ก็คือ กองทุนรวม FIFs ไทยที่เรียกเก็บจากผู้ลงทุนในรูปแบบของ  Total Expense Ratio นั้นเอง

 

ตัวอย่างเช่น กองทุน Master Fund มีค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ที่ 1.5% และกองทุน FIFs ไทยเรียกเก็บอีก 1.5% นั้นก็หมายความว่ากองทุน Master Fund จะต้องทำผลตอบแทนจากการลงทุนให้ได้สูงกว่า 3% ถึงจะเหลือผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนไทย

 

ซึ่งในส่วนของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในต่อที่ 2 ที่กองทุน FIFs ไทยเรียกเก็บนั้นก็ถือว่าอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกองทุนที่ลงทุนในหุ้น และมากไปกว่านั้นถ้ากองทุนไปลงทุนโดยตรงเอง ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก โดยที่บางกองทุนมีการเรียกเก็บสูงถึง 4-5% เลยทีเดียว

 

ข้อมูลทั้งหมดนี้ ไม่ได้ต้องการให้นักลงทุนตระหนกหรือแตกตื่น แต่มีวัตถุประสงค์ให้ทราบข้อมูลให้ครบถ้วน เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนได้ดีมากยิ่งขึ้น และถ้าเป็นไปได้ ผู้ลงทุนควรสอบถามไปยังกองทุนที่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ในอัตราที่สูงกว่าที่อื่นๆ เพื่อที่เราจะได้เข้าใจถึงที่มาที่ไปและเหตุผลของการเรียกเก็บดังกล่าว

 

#WealthMeUp

 

กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

Related Stories

amazon anti fatigue mats