ถึงเป็นบุคคลธรรมดาก็ต้องทำ “บัญชีรับ-จ่าย”
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราจะเห็นสรรพากรพยายามส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้มาตรา 40(5)-(8) จดทะเบียนในรูปนิติบุคคล แต่หลายคนก็เลือกที่จะเสียภาษีในรูปบุคคลธรรมดากันอยู่เช่นเดิม เหตุผลหนึ่งก็คือ ถ้าทำธุรกิจในรูปนิติบุคคล จะต้องทำบัญชี มีผู้สอบบัญชี ยุ่งยาก มีค่าใช้จ่าย และหากทำในรูปบุคคลธรรมดาแล้วเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่าย ไม่ต้องทำรายงานเงินสดรับจ่าย
แต่นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด!! ไม่ว่าเราจะเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายหรือหักค่าใช้จ่ายตามจำเป็นและสมควร ก็ต้องทำรายงานเงินสดรับจ่ายหมด เพราะตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 161) กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)-(8) จัดทำบัญชี หรือ รายงานแสดงรายได้และรายจ่าย
ประเภทเงินได้ตามมาตรา 40(5)-(8) มีอะไรบ้าง ?
มาตรการ 40(5) : รายได้จากการให้เช่า
มาตรการ 40(6) : รายได้จากการทำอาชีพอิสระ
มาตรการ 40(7) : รายได้จากการรับเหมา
มาตรการ 40(8) : รายได้อื่นๆ ที่ไม่ใช่ 40(1) – 40(7)
ซึ่งผู้มีรายได้เหล่านี้ต้องยื่นเสียภาษีกลางปี
บุคคลธรรมดาตามกฎหมายกรมสรรพากร ได้แก่
1.บุคคลธรรมดา
2.ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล (รวมถึงวิสาหกิจชุมชน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548)
3.ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
4. กองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง
จะเห็นว่านิติบุคคล เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฯลฯ ไม่เกี่ยว เพราะพวกนิติบุคคลต้องทำบัญชี และต้องมีผู้สอบบัญชีตามกฎหมายอยู่แล้ว
ประโยชน์ของการทำ “บัญชีรับ – จ่าย” ?
1.ใช้เป็นหลักฐานในการแสดงรายได้ – รายจ่าย เพื่อประกอบการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2. ทำให้ทราบถึงสถานะทางการเงินของกิจการ ผลกำไร–ขาดทุน
3. ใช้วางแผนและควบคุมการบริหารงานภายในของกิจการ
4. ใช้เป็นเอกสารประกอบการยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้
แล้วจะทำรายงานเงินสดรับ– จ่าย ยังไงดี ?
กรมสรรพากรกำหนดว่าการจัดทำรายงานเงินสดรับ–จ่าย จะต้องมีรายการและข้อความอย่างน้อยตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเพิ่มช่องรายการให้เหมาะสมกับสภาพของกิจการได้
–ต้องจัดทำรายงานเงินสดรับ–จ่าย เป็นภาษาไทย ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศให้มีภาษาไทยกำกับ
–ต้องลงรายการในรายงานเงินสดรับ–จ่าย ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่มีรายได้หรือรายจ่าย
–รายการที่นำมาลงในรายงานเงินสดรับ–จ่าย
–ต้องมีเอกสารประกอบการลงรายงาน เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี ฯลฯ
–การลงรายการรายรับและรายจ่ายให้ลงเป็นยอดรวมของแต่ละวันทำการ โดยมีเอกสารประกอบรายรับ และรายจ่ายดังกล่าว หรือสามารถลงรายการรายรับและรายจ่ายโดยลงรายละเอียดรายการของรายรับ–รายจ่ายที่เกิดขึ้น ก็สามารถทำได้เช่นกัน
–รายจ่ายที่นำมาลงในรายงานเงินสดรับ–จ่าย ต้องเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ
–สำหรับภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายนั้น สามารถนำมาลงเป็นต้นทุนของสินค้าหรือค่าใช้จ่ายได้ทั้งจำนวน เนื่องจากผู้ประกอบการไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
–หากมีการขายสินค้า/ให้บริการ ซื้อสินค้า และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เป็นเงินเชื่อ ให้บันทึกรายการ ในวันที่ได้รับชำระหรือวันที่จ่ายชำระค่าสินค้า/บริการนั้น โดยอธิบายเพิ่มเติมในช่องหมายเหตุ
–ให้สรุปยอดรายรับ และรายจ่าย เป็นรายเดือนเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ตัวอย่างของรายงานเงินสดรับ – จ่าย จากกรมสรรพากร
ถ้าหากไม่ทำจะโดนอะไรบ้าง ?
ก็จะโดนสรรพากรปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร