Feedback แบบไหน ได้ใจคนฟัง
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
วิธีหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพคนในทีม เพื่อให้พวกเขาอุดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง เพื่อสร้างผลงานให้ดีขึ้น คือ การติชม ให้คำแนะนำ หรือ feedback แต่หากทำในเวลาไม่เหมาะสม หรือไม่ถูกวิธี แทนที่จะดี อาจกลายเป็นร้าย ดังนั้น หากอยากให้ feedback เป็นการติเพื่อก่อ และได้ผลจริง ต้องทำแบบนี้
เน้นปรับพฤติกรรม
ไม่โจมตีตัวบุคคล แต่ควรแนะนำวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้น เช่น แทนที่จะพูดว่า “เธอไม่ใส่ใจรายละเอียด” ก็ควรบอกว่า “ผลงานของคุณจะดีขึ้น ถ้าใช้เวลาดูรายละเอียดมากกว่านี้” ซึ่งคนฟังจะรู้สึกว่าเป็นการแนะนำด้วยความหวังดีมากกว่าเป็นการตำหนิ
เจาะจงชัดเจน
อย่าพูดแบบกว้างๆ เพื่อให้คนฟังตีความไปเอง แต่ต้องพูดชัด ตรงประเด็นมากที่สุด พร้อมยกตัวอย่างหรืออ้างอิงสถานการณ์แบบเฉพาะเจาะจง ที่ทำให้ผู้ฟังเห็นภาพและเข้าใจถูกต้องตรงกัน เช่น แทนที่จะพูดว่า “เวลาประชุม คุณต้องพูดมากขึ้น” ซึ่งฟังดูกำกวมเกินไป และผู้ฟังอาจตีความได้หลายอย่าง ก็ควรพูดให้ชัดเจนกว่านั้นว่า “คุณมีความสามารถ อยากได้ยินไอเดียของคุณทุกครั้งเวลาประชุม”
อย่าขอมากเกินไป
ถ้าขอให้ผู้ฟังปรับปรุงตัวเองหลายอย่างในคราวเดียวกัน สุดท้ายแล้วอาจไม่เห็นการพัฒนาอะไรเลย เพราะโดยธรรมชาติ คนเราอาจมีข้อจำกัดในการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลง ดังนั้นหากอยากเห็นผลลัพธ์จริงๆ ก็ควรจัดลำดับความสำคัญของ feedback และเลือกพูดสิ่งที่จำเป็นต้องปรับปรุงเร่งด่วนก่อนประเด็นอื่นๆ
ร่วมหาแนวทาง
แม้จะมีแนวทางดีๆ ที่จะชี้แนะแก่ผู้ฟัง แต่ถ้าให้ดีควรรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่ายด้วย ควรพูดแลกเปลี่ยนไอเดียกัน เพื่อช่วยกันหาวิธีที่ดีที่สุด และทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมในแนวคิดดังกล่าวด้วย
ห้ามเปรียบเทียบ
อยากให้คนรับ feedback รู้สึกดี ไม่ควรเปรียบเทียบผลงานของเขากับคนอื่น แม้ว่าจะเป็นพนักงานในระดับเดียวกัน ควรให้ feedback โดยยึดตัวคนๆ เดียวเป็นมาตรฐาน เปรียบเทียบพฤติกรรมในอดีต พฤติกรรมในปัจจุบัน และผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าจะแตกต่างกันอย่างไรบ้าง หากทำตามคำแนะนำ