×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

ผู้ถือหุ้น TCAP รอปันผล 2.6O บาท/หุ้น เพิ่มทุกปี!

6,553

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

หนึ่งหุ้นแบงก์ที่กำลังถูกจับตาก็คือบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน)หรือ TCAP บริษัทแม่ของธนาคารธนชาต ที่อยู่ระหว่างการรวมกิจการกับธนาคารทหารไทย (TMB)ซึ่งหลังจากมีข่าวก็ทำให้ราคาหุ้นของ TCAP ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แต่ที่น่าสนใจไม่น้อยกว่าดีลนี้ ก็คือตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2562 (Q1/2562) และยังจ่ายปันผลเพิ่มขึ้นทุกปี!

 

กำไรโตต่อเนื่อง 4 ปี | เงินปันผล (ต่อหุ้น) เพิ่มขึ้นทุกปี

TCAP เปิดเผยผลประกอบการ Q1/2562  TCAP และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิตามงบการเงินรวมจำนวน 4,061 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 148 ล้านบาท หรือ 3.78% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เมื่อมาดูกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TCAP ในไตรมาส 1 นี้  มีจำนวน 2,016 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 117 ล้านบาท หรือ 6.16% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

 

จากผลการดำเนินงานปี 2561 ของ TCAP ที่ออกมาดี โดย TCAP และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิตามงบการเงินรวม จำนวน 15,806 ล้านบาทซึ่งเป็นการเติบโตต่อเนื่อง 4 ปีติดต่อกัน ขณะที่กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TCAP มีจำนวน  7,839 ล้านบาท เติบโต 11.97% จากปีก่อน และนั่นเป็นเหตุผลให้ TCAP สามารถจ่าย“เงินปันผล” สำหรับผลการดำเนินงานปี 2561 เป็นเงิน 2.60 บาทต่อหุ้น โดยแบ่งเป็นจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2561 ในอัตราหุ้นละ 1.00 บาท และเหลืออีก 1.60 บาท ที่จะขออนุมัติจากการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 24 เมษายน นี้ ซึ่งหากย้อนดูข้อมูล 3 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า TCAP มีการจ่ายเงินปันผล (ต่อหุ้น) เพิ่มขึ้นทุกปี

 

รายได้เพิ่ม-สินเชื่อขยายตัว | ค่าใช้จ่าย-NPL ลด

Q1/2562 ฐานรายได้รวมของ TCAP และบริษัทย่อย ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 6.25% (สินเชื่อและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น) ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 8.15% (การลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและเงินลงทุน) ส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง 7.13% ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนการตั้งสำรอง (PPOP) เพิ่มขึ้น 10.25% ในขณะที่ค่าใช้จ่ายหนี้สูญหนี้สงสัยจะสูญก็ลดลงถึง 30.75%

 

สำหรับด้านสินเชื่อของกลุ่มธนชาต ในส่วนของสินเชื่อขยายตัว 1.21% จากการเติบโตของสินเชื่อรายย่อย  โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อ ขณะที่สินเชื่อด้อยคุณภาพ ปรับตัวลดลง 2.88% จากสิ้นปี 2561 และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Ratio) อยู่ที่ 2.28% ขณะที่ อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญทั้งหมดต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) อยู่ที่ 120.85% ส่วนอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารเท่ากับ 19.18% 

 

ในฐานะนักลงทุนหลายคนให้ความสำคัญกับบรรทัดสุดท้าย…และเมื่อมาดูเฉพาะกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TCAP แล้ว ในไตรมาส 1 มีจำนวน 2,016 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 117 ล้านบาท หรือ 6.16% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) คิดเป็นกำไรต่อหุ้น (EPS) เท่ากับ 1.76 บาท เพิ่มขึ้นจาก 1.63 บาท โดยมีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมเฉลี่ย (ROAA) อยู่ที่ 1.53% และอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทเฉลี่ยที่ 12.08%

 

จากนี้ไปคงต้องจับตาการรวมกิจการระหว่าง ธนาคารธนชาต และ TMB ว่าหลังจากเสร็จสมบูรณ์แล้ว ธนาคารใหม่นี้จะมีความสามารถในการเติบโตทางธุรกิจและสร้างผลกำไรที่ดีขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน เพราะย่อมสะท้อนมายัง TCAP อย่างมีนัยสำคัญ ในฐานะหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ ด้วยสัดส่วนที่ไม่น้อยกว่า 20%

 

แต่ก็อย่าลืมว่า TCAP ยังมีบริษัทลูกของธนาคารธนชาตที่จะโอนย้ายมาอยู่ภายใต้ TCAP ทั้ง ราชธานีลิสซิ่ง
ธนชาตประกันภัย และบล.ธนชาต อีกด้วย

 

คำเตือน

  • การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน
  • ผลการดำเนินงานในอดีตผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนมิได้เป็นสิ่งยืนยัน ถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
  • การนำเสนอข้อมูลดังกล่าวมิใช่การให้คำแนะนำการลงทุนและผู้ให้ข้อมูลขอสงวนสิทธิ์ไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสียในทุกกรณีที่อาจเกิดขึ้นจากการให้ข้อมูลดังกล่าว

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats