×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

8 กลยุทธ์ปรับโครงสร้างหนี้ ผ่อนหนักเป็นเบา

2,584

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

รู้ก่อนเป็นหนี้

 

การเป็นหนี้ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสีย หากรู้จักบริหารจัดการหนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตหรือก่อร่างสร้างกิจการ และอาจเป็นตัวช่วยสู่ความมั่งคั่งได้ โดยจะเห็นได้จากผู้ประกอบกิจการหลาย ๆ คนที่กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพและมีความสามารถทำให้กิจการเติบโตและปลดภาระหนี้ได้ในที่สุด

 

แต่ก่อนอื่นมาทำความรู้จัก “หนี้” กันก่อนว่ามีกี่แบบ หนี้นั้นมีทั้ง “หนี้ดี” และ”หนี้พึงระวัง”

 

“หนี้ดี” คือ หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น กู้เงินเพื่อทำธุรกิจโดยประเมินแล้วจะมีรายได้มากเพียงพอใช้หนี้และมีเหลือพอสำหรับการดำรงชีวิตและค่าใช้จ่ายอื่นๆ การกู้เงินซื้อบ้าน ซึ่งมูลค่าที่ดินจะเพิ่มขึ้นทุกปี ประเมินแล้วราคาบ้านและที่ดินจะสูงขึ้นในอนาคต การกู้ซื้อรถเพื่อเดินทางไปทำงานสร้างรายได้

 

“หนี้พึงระวัง” คือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือไม่มีมูลค่าอะไรเลยเมื่อถูกใช้ไปแล้ว เช่น การกู้เงินมาซื้อที่ดิน หรือคอนโด แล้วไม่สามารถนำไปประกอบกิจการหรือปล่อยเช่าเพื่อให้เกิดรายได้จากส่วนต่างที่จะต้องชำระหนี้ หนี้ที่กู้มาเพื่อนำไปจับจ่ายตอบสนองอาการ “ของมันต้องมี” แต่ไม่สามารถใช้สอยให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

 

มีวัตถุประสงค์เพื่อการเป็นหนี้ที่ชัดเจน

 

เมื่อทำความเข้าใจหนี้แต่ละประเภทแล้ว ก่อนจะ “เป็นหนี้” ควรถามตัวเองก่อนว่า มีความจำเป็นถึงที่สุดที่จะต้องเป็นหนี้แล้วหรือยัง และรู้แล้วใช่หรือไม่ว่าตนเป็นหนี้แบบ “หนี้ดี” หรือ “หนี้พึงระวัง” ที่สำคัญคือ กู้ยืมเงินมาเพื่อทำอะไร การมีวัตถุประสงค์ในการใช้เงินที่ชัดเจนจะช่วยให้ประเมินความคุ้มค่าได้ เพราะทันทีที่รับเงินที่กู้มาก็มีสภาพเป็นลูกหนี้ที่ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยทันที จึงต้องมีความตั้งใจแต่แรกว่าจะนำเงินนั้นไปทำอะไร เช่น เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ซื้ออุปกรณ์ทำมาหากินหรือนำไปขยายกิจการ ความชัดเจนเหล่านี้จะเป็นตัวคัดกรองให้มีสติก่อนว่าหนี้ที่จะสร้างนั้นมีความจำเป็นจริงหรือไม่

 

กู้ให้เหมาะกับสภาพหนี้ ต้องรู้อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเท่าไหร่

 

การกำหนดวัตถุประสงค์ของการเป็นหนี้นั้น ทำให้รู้ว่าควรกู้ยืมเงินแบบไหน เนื่องจากเงินกู้แต่ละประเภทจะมีอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน หากกู้ผิดประเภท เช่น กู้สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำประมาณ 16% ต่อปี มาสร้างบ้าน แทนที่จะกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า การกู้ผิดประเภทอาจทำให้หมุนเงินมาใช้หนี้ไม่ทันและทำให้จ่ายหนี้ไม่ไหวกลายเป็นหนี้เสีย จะส่งผลกระทบต่อเนื่องจนยากจะแก้ไข

 

อีกสิ่งสำคัญคือ ต้องคำนวณอัตราดอกเบี้ยให้เป็น โดยให้เจ้าหนี้ชี้แจงจนเข้าใจหลักการคำนวณให้ชัดเจนก่อนทำสัญญา นอกจากนี้ ควรเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของแต่ละธนาคาร เพื่อให้มีภาระค่าใช้จ่ายสำหรับหนี้ต่ำสุด

 

8 กลยุทธ์ปรับโครงสร้างหนี้ ผ่อนหนักเป็นเบา

 

การประเมินค่าใช้จ่ายและรายได้จะช่วยให้รู้ว่าจะมีเงินเพียงพอสำหรับการใช้หนี้หรือไม่ การผ่อนชำระหนี้นั้น ไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของรายได้ที่หาได้ หากประเมินว่าไม่เพียงพอ ต้องวางแผนลดค่าใช้จ่ายให้น้อยลงมากที่สุด หาทางที่จะสร้างรายได้เพิ่มเติมทุกทางตามกำลังที่มีโดยสุตจริต แต่กรณีที่ไม่สามารถจะหาเงินมาชดใช้หนี้ได้ อย่าวิตกกังวลและหาทางออกที่เป็นผลเสียต่อสภาพร่างกายและจิตใจ เพราะระยะยาวแล้วจะไม่ส่งผลดีต่อใคร ควรเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อหาทางออก ซึ่งลูกหนี้มีสิทธิ์ที่จะเจรจาต่อรองเพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบาในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยได้หลายวิธี ดังนี้

 

  • ยืดระยะเวลาชำระหนี้

 

การขอยืดระยะเวลาการชำระหนี้ เช่น จาก 3 ปี เป็น 4 ปี เพื่อให้จำนวนเงินผ่อนชำระในแต่ละเดือนลดลง ซึ่งเจ้าหนี้อาจเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกเล็กน้อย แต่ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ลูกหนี้จะมีเงินใช้จ่ายหมุนเวียนในแต่ละเดือนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยประคับประคองให้ผ่านพ้นไปได้ระยะเวลาหนึ่ง

 

  • พักชำระเงินต้น

 

วิธีการนี้ เป็นการเจรจาขอชำระเพียงดอกเบี้ยอย่างเดียวทุกเดือน เช่น แต่ละเดือนจะต้องผ่อนชำระเงินต้น 8,000 บาท ดอกเบี้ย 12,000 บาท รวมเป็น 20,000 บาท โดยอาจกำหนดระยะเวลาร่วมกันกับเจ้าหนี้ อาจเป็น 6 – 12 เดือนตามแต่เจ้าหนี้จะผ่อนปรน ทำให้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ลูกหนี้จะชำระเพียงดอกเบี้ยแต่ละเดือนจำนวน 12,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อครบกำหนดสัญญา ลูกหนี้จะต้องชำระเงินต้นคงค้างเป็นเงินก้อนตามจำนวนที่ค้างชำระ วิธีการนี้จะไม่ทำให้เกิดการคำนวณดอกเบี้ยที่เกิดจากการผิดนัดชำระซึ่งจะทำให้ก้อนหนี้ใหญ่ขึ้นในอนาคต

 

  • ลดอัตราดอกเบี้ย

 

การเจรจาขอลดอัตราดอกเบี้ยเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดเงินต้นและดอกเบี้ย เพิ่มความสามารถให้ลูกหนี้ปิดหนี้ได้เร็วขึ้นหรือลดจำนวนหนี้ที่ต้องผ่อนชำระในแต่ละงวดลง เพิ่มสภาพคล่องให้สามารถนำเงินที่เหลือไปหมุนเวียนได้ ทั้งนี้ ลูกหนี้เองควรศึกษาอัตราดอกเบี้ยและเปรียบเทียบของแต่ละสถาบันการเงินขอเจรจาต่อรอง

 

  • ขอยกเว้น หรือขอผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชำระ

 

ตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้สถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยปรับบนฐานของงวดที่ผิดนัดชำระจริง ดังนั้น ลูกหนี้ที่เป็นหนี้ของระบบสถาบันการเงินสามารถเจรจาเพื่อขอผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชำระได้ ทั้งนี้ ไม่ควรปล่อยให้เกิดการผิดนัดชำระต่อเนื่อง ควรขอเจรจาแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้สถาบันการเงินเห็นความตั้งใจที่จะผ่อนชำระหนี้ และไม่เสียประวัติทางการเงิน ส่งผลให้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอนาคตเป็นไปได้ยาก

 

  • ขอเพิ่มเงินทุนหมุนเวียน

 

วิธีการนี้เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ได้สนับสนุนให้สถาบันการเงิน ให้เงินทุนหมุนเวียนใหม่แก่กิจการพื้นฐานดี โดยแยกสินเชื่อนี้ออกจากสินเชื่ออื่นที่อาจเป็นหนี้เสีย หรือ NPL ไปแล้ว เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องขอเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อนำเสนอข้อมูลเพื่อสถาบันการเงินประกอบการพิจารณาเพิ่มเงินทุน

 

  • รวมหนี้เป็นก้อนเดียว แล้วเปลี่ยนหนี้ดอกแพงให้เป็นดอกถูก

 

การนำหนี้ที่มีอยู่ทั้งในและนอกระบบ หรือแม้กระทั่งการรวมหนี้บัตรเครดิตหลาย ๆ ใบ เอาไว้ที่เดียวกัน ข้อดี คือ ช่วยปิดหนี้ที่มีดอกเบี้ยแพง ๆ ทั้งหมด แล้วมาผ่อนเป็นรายงวดกับสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียวที่ศึกษาหรือเจรจาขออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง และมีจำนวนการผ่อนที่ยาวนานขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับผู้ที่ต้องการปิดหนี้ทั้งหมดให้เหลือหนี้อยู่เพียงก้อนเดียว ด้วยวิธีการนี้ อาจทำให้ภาระค่างวดต่อเดือนลดลงอีกด้วย ทำให้ไม่ต้องกังวลกับการโดนทวงถามหนี้จากหลาย ๆ ทาง และไม่ผิดนัดชำระหนี้ สามารถวางแผนการผ่อนชำระที่แน่นอนได้ และมีโอกาสปลดหนี้ได้ในที่สุด

 

  • ปิดหนี้ด้วยการเพิ่มเงินหรือเพิ่มความถี่ชำระหนี้

 

เหมาะสำหรับลูกหนี้ที่ยังพอมีกำลังจ่ายไหวและมีกระแสเงินสดเข้ามาทุกเดือน และในแต่ละเดือนมีเงินเหลือจากการใช้จ่าย โดยนำไปชำระหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อลดดอกเบี้ย เพราะโดยปกติดอกเบี้ยของเงินกู้จะคำนวณจากยอดเงินกู้รายวัน แล้วบวกกันจนเป็นยอดเงินกู้รายเดือน การบริหารหนี้ลักษณะนี้สามารถทำได้โดยการเพิ่มยอดชำระหรือเพิ่มความถี่ในการชำระแต่ละเดือน หากสามารถชำระหนี้ผ่านระบบหักเงินอัตโนมัติจะยิ่งช่วยให้ชำระหนี้ได้ตรงเวลา โดยไม่ต้องกลัวลืมและเกิดดอกเบี้ยจากการผิดนัดชำระและทำให้ผู้ให้กู้เห็นความสามารถในการชำระหนี้ และจัดให้เป็นลูกหนี้ชั้นดีและสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายดายขึ้นในอนาคต

 

  • การรีไฟแนนซ์

 

การทำรีไฟแนนซ์ (Refinance) หมายถึง การชำระเงินกู้ที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งหมดด้วยเงินกู้ใหม่ และใช้สินทรัพย์ตัวเดิมเป็นหลักประกัน โดยขอกู้เงินจากสถาบันการเงินแห่งใหม่เพื่อนำไปปลดภาระเงินกู้เก่าที่มีอยู่

 

ข้อดีของการรีไฟแนนซ์ คือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่ที่ถูกกว่า ทำให้เราผ่อนชำระได้ดอกเบี้ยถูกลงกว่าเดิม ช่วยลดภาระหนี้ ทำให้จำนวนเงินที่ต้องผ่อนต่อเดือนลดลง บางกรณีอาจได้วงเงินกู้มากขึ้นกว่าเดิม สามารถนำเงินส่วนต่างจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงไปใช้จ่ายเพื่อหมุนเวียนในธุรกิจหรือเรื่องจำเป็นอื่นๆ ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ ต้องคำนึงถึงระยะเวลาผ่อนชำระที่จะนานขึ้น และค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการรีไฟแนนซ์และเวลาสำหรับการจัดเตรียมเอกสาร

 

หากพบว่าไม่สามารถชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงไว้กับเจ้าหนี้ ควรเจรจาต่อรองเพื่อหาทางออกร่วมกัน วิธีการนี้จะส่งผลดีทั้งสองฝ่าย ทั้งเจ้าหนี้จะได้ทราบสาเหตุที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ และอาจช่วยหาทางแก้ไขหรือเชื่อมโยงช่องทางเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ได้ และพิจารณาเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญากู้บางประการ เพื่อให้ลูกหนี้ยังสามารถดำเนินกิจการ หรือดำรงชีพต่อไปได้เพื่อสามารถหารายได้มาผ่อนชำระหนี้ ย่อมดีกว่าการปล่อยให้เป็นหนี้เสียทั้งก้อน

 

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats