จ่ายเงินประกันสังคมเพิ่ม มนุษย์เงินเดือนได้อะไร
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
มนุษย์เงินเดือนตื่นตัวกันใหม่ เมื่อมีประกาศเรื่องเพิ่มเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม จากเพดานเดิมที่เก็บอยู่ที่อัตรา 5% ของเงินเดือน โดยมีเพดานเงินเดือนอยู่ที่ 15,000 บาท
หมายความว่า ถ้ามีเงินเดือนน้อยกว่า 15,000 บาท ก็คิด 5% ของเงินเดือนนั้น แต่ถ้าเงินเดือนสูงกว่า 15,000 บาท ก็คิดแค่ 5% ของ 15,000 บาท เท่ากับ 750 บาทต่อเดือน หรือ 9,000 บาทต่อปี
ส่วนเพดานเงินเดือนใหม่อยู่ที่ 20,000 บาท ดังนั้นคนที่ฐานเงินเดือนสูงกว่า 15,000 บาท ก็จะถูกหักเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น แต่สูงสุดไม่เกิน 5% ของ 20,000 บาท หรือเท่ากับ 1,000 บาท
สรุปคือ อัตราเงินสมทบ 5% เท่าเดิม แต่เพิ่มฐานเพดานเงินเดือนจาก 15,000 เป็น 20,000 บาท ทำให้เราต้องเสียเงินสมทบเข้าประกันสังคมมากขึ้นเดือนละ 250 บาท
แล้วอย่างนี้ดีหรือไม่ดี เรามาดูกัน…
5% ที่เราถูกหักเงินเดือนทุกเดือนเพื่อเข้าประกันสังคมนั้นจะแบ่งเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ดังนี้
- 3% เพื่อสิทธิประโยชน์ด้านสงเคราะห์บุตร และชราภาพ
- 0.5% เพื่อสิทธิประโยชน์ด้านว่างงาน
- 1.5% เพื่อสิทธิประโยชน์ด้านเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร
การเพิ่มฐานเพดานเงินเดือน แม้จะทำให้เราต้องจ่ายเงินสมทบมากขึ้น แต่เราก็จะได้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ที่คำนวณจากฐานเงินเดือน ดังนี้
- กรณีบำนาญชราภาพ ถ้าเราจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 180 เดือน โดยได้เป็นรายเดือนอย่างน้อยในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุด หากเพิ่มฐานเพดานเงินเดือน เงินบำนาญชราภาพที่เราจะได้รับก็จะมากขึ้น
- กรณีหยุดงานเพื่อคลอดบุตร ผู้ประกันตนหญิงมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรแบบเหมาจ่ายในอัตรา 50% ของค่าจ้างโดยเฉลี่ย เป็นระยะเวลา 90 วัน โดยคำนวณจากฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท
ซึ่งเงินที่ได้นั้นคุณแม่จะได้รับเต็มจำนวน 90 วัน (แม้ว่าคุณแม่จะใช้สิทธิลาคลอดไม่ถึง 90 วัน เพราะไปทำงานก่อน 90 วันก็ตาม) หากเพิ่มฐานเพดานเงินเดือน เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรก็จะได้มากขึ้น
- กรณีทุพพลภาพร้ายแรง ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างเป็นรายเดือนตลอดชีวิต หากเพิ่มฐานเพดานเงินเดือน ก็จะได้เงินทดแทนขาดรายได้มากขึ้น
- กรณีเสียชีวิต จะได้รับเงินสงเคราะห์เสียชีวิต หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 3 ปีแต่ไม่ถึง 10 ปี จะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 2 เดือน
แต่หากจ่ายเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 6 เดือน หากเพิ่มฐานเพดานเงินเดือน ก็จะได้เงินสงเคราะห์เสียชีวิตมากขึ้น
- กรณีว่างงาน เราก็จะได้เงินมากขึ้นตามฐานเพดานเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนี้
- กรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วันในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย
- ในกรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามระยะเวลา จะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานปีละไม่เกิน 90 วันในอัตรา 30% ของค่าจ้างเฉลี่ย
ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านเจ็บป่วยไม่ได้คำนวณบนฐานเพดานเงินเดือน จึงตอบไม่ได้ชัดเจนว่า เราจะได้ประโยชน์เพิ่มหรือไม่จากเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น
แต่บอกได้อย่างหนึ่งว่า เงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาลแพงมากถึงปีละ 7% กว่าๆ ดังนั้นแม้จะได้รับสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลเท่าเดิม ก็ยังถือว่าคุ้ม