×

Wealth Me Up ใช้แรงทำเงิน

คุณพร้อมเป็น "หัวหน้า" แล้วหรือยัง?

8,145

 

เชื่อแน่ว่า!! ลึกๆแล้ว คนทำงานบริษัททุกคนคงหวังการเติบโตในหน้าที่การงาน เพราะนอกจากเงินเดือน โบนัส อำนาจสั่งการ จะเพิ่มขึ้นแล้ว ชื่อเสียงและการยอมรับในทางสังคมก็สูงขึ้นด้วย

 

แต่เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ..เพราะการเป็น “หัวหน้า” ย่อมนำมาซึ่งภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ (รับผิด และ รับชอบ) ที่มากขึ้น หนักขึ้น รวมทั้งยังต้องดูแลลูกน้องอีกด้วย

 

สมมติว่า ถ้าวันพรุ่งนี้ คุณต้องเป็น “หัวหน้า”..คุณคิดว่า วันนี้คุณพร้อมแล้วหรือยัง? 

 

ถ้าคุณยังไม่พร้อม หรือ ไม่แน่ใจ วันนี้ Wealth Me Up ขอเสนอ 4 แนวทางในการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็น “หัวหน้า” ที่ดี

 

1. ลูกน้อง “ทำดี” ให้ชมเสียงดัง  |  “ทำผิด” ให้คุยกันเงียบๆ

หัวหน้ามือใหม่หลายคนไม่ค่อยทราบหลักการนี้ มักชอบทำตรงกันข้าม โดยเฉพาะเวลาลูกน้องทำผิด จะชอบพูดเสียงดังให้คนในทีมรับรู้ แม้เจตนาจะดี อยากให้เป็นบทเรียนกับคนอื่น แต่หารู้ไม่ว่าเรื่องนี้จะสร้างตราบาปในใจลูกน้อง แต่ถ้าลูกน้องทำดี คุณต้องชมเค้าให้ทุกคนในได้ยินกันไปเลย เพราะจะช่วยเพิ่มกำลังใจให้คนทำดี แถมยังเป็นวิธีการกระตุ้นลูกทีมคนอื่นได้ดีอีกด้วย

2. ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี

ลูกน้องจะ “เชื่อ” และ “ทำตาม” ที่หัวหน้าสั่งด้วยความยินดีและเต็มใจ ก็ต่อเมื่อหัวหน้าทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้ดูก่อน อย่างเรื่องการตรงต่อเวลา ถ้าคุณอยากให้ลูกน้องมาทำงานตรงเวลา ไม่มาสาย คุณต้องเป็นคนตรงต่อเวลาหรือมาก่อนเวลาได้ยิ่งดี เพราะ “การสอนที่ดีที่สุด คือ การทำเป็นแบบอย่างให้ดู”

 

3.ส่งเสริมการพัฒนาลูกน้อง

หน้าที่หลักของหัวหน้า คือ การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพลูกน้องให้ดีที่สุด ยิ่งลูกน้องเก่งขึ้นเท่าไร หัวหน้าจะเหนื่อยน้อยลง และมีเวลาไปทำงานที่สำคัญกว่ามากขึ้นเท่านั้น และเพื่อให้การพัฒนาถูกทิศถูกทาง คุณต้องหมั่นสังเกตและพูดคุยกับลูกน้องเพื่อรู้ว่า ควรจะเพิ่มทักษะความรู้ให้กับเค้าในเรื่องใดบ้าง

4. ประยุกต์ใช้หลัก”พรหมวิหาร 4″

พรหมวิหาร 4 เป็นหลักธรรมของนักปกครอง เจ้านายหรือหัวหน้าคนใดที่ใช้หลักธรรมนี้ในการบริหารงาน ผลงานจะดี ลูกน้องก็มีความสุข หลักนี้ประกอบด้วยข้อธรรมทั้งหมด 4 ข้อ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งแต่ละข้อคุณต้องรู้จักนำไปใช้กับแต่ละสถานการณ์ให้เหมาะสม

 

เมตตา: ในสถานการณ์ปกติ คุณควรหมั่นดูแลเอาใจใส่ลูกน้องให้อยู่ดีมีสุขทั้งกายและใจ
กรุณา: เมื่อลูกน้องต้องเจอกับปัญหาอุปสรรค คุณต้องพร้อมเข้าไปช่วยเหลือ
มุทิตา: ถ้าลูกน้องประสบความสำเร็จ คุณก็ร่วมแสดงความยินดีชื่นชม
อุเบกขา: แต่เมื่อใดที่ลูกน้องทำผิด ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือศีลธรรม คุณต้องว่ากล่าว ตักเตือน และดำเนินการไปตามหลักการที่ถูกต้อง

 

ถ้าคุณปฏิบัติได้ตามแนวทางทั้ง 4 นี้แล้ว เชื่อมั่นว่า คุณจะเป็นหัวหน้าที่ “เก่ง” แถมยังเป็น “ที่รัก” ของลูกน้องอีกด้วย ขอเป็นกำลังใจให้หัวหน้าและว่าที่หัวหน้าทุกคน!

#WealthMeUp

 

กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

Related Stories

amazon anti fatigue mats