“เงินฉุกเฉิน” มีเท่าไหร่ถึงจะพอ?
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
วิกฤติเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน รวมถึงด้านการเงิน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในธุรกิจบริการ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และเจ้าของกิจการขนาดเล็ก ดังนั้น นอกจากความเครียดด้านสุขภาพแล้วยังต้องกังวลด้านการเงินเพิ่มขึ้นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการขาดสภาพคล่องจากการสะดุดของรายได้ ในขณะที่ยังมีภาระค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนความผันผวนของการลงทุน
หากถามว่าอะไรเป็นปราการด่านแรกในการป้องกันปัญหาทางการเงิน คำตอบคือ เงินสำรองยามฉุกเฉิน เพราะเงินก้อนนี้จะช่วยรองรับการใช้ชีวิตในช่วงที่ขาดรายได้ หรือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่ทันคาดคิด ส่วนผู้ที่ไม่มีเงินสำรอง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินมักหาทางออกด้วยการไปกู้หนี้ยืมสิน หรืออาจทำให้แผนการเงินด้านอื่นๆ เช่น แผนการเกษียณต้องสะดุดลง เพราะต้องนำเงินออกมาเป็นค่าใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน ดังนั้น ทุกคนควรแบ่งเงินบางส่วนเพื่อเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน
ควรมีเงินสำรองยามฉุกเฉินจำนวนเท่าไหร่?
นักวางแผนการเงินส่วนใหญ่แนะนำว่า เงินสำรองยามฉุกเฉินควรมีอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน บางคนอาจมีมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าการมีเงินสำรองไว้มากเกินไป อาจทำให้เสียโอกาสในการหาผลตอบแทนจากการลงทุน แต่หากน้อยเกินไปอาจไม่เพียงพอในการรับมือกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ดังนั้น การกำหนดจำนวนเงินสำรองยามฉุกเฉิน จึงควรพิจารณาตามเงื่อนไขในชีวิตและปัจจัยต่างๆ ของแต่ละคน เช่น
- ความมั่นคงของรายได้
หากอาชีพการงานไม่ค่อยมีความมั่นคงหรือมีรายได้ไม่แน่นอนในแต่ละเดือน เช่น พนักงานขาย ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ เจ้าของกิจการ อาจต้องมีเงินสำรองยามฉุกเฉินมากกว่าผู้ที่มีรายได้ประจำและมีความมั่นคง
- ค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน
เงินสำรองยามฉุกเฉินมักถูกนำมาใช้จ่ายเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ เช่น ซื้ออาหาร ซื้อสินค้าอุปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น แต่หากเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย และไม่มีประกันสุขภาพหรือประกันภัยที่ครอบคลุม ก็ต้องแบ่งเงินบางส่วนมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษา ดังนั้น ผู้ที่สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง ควรมีเงินสำรองยามฉุกเฉินเพิ่มขึ้นกว่าปกติ
- สินทรัพย์อื่นที่มี
นอกจากเงินสำรองยามฉุกเฉินแล้ว สินทรัพย์อื่นๆ ก็สามารถเป็นได้เช่นกัน เช่น เงินลงทุนในกองทุนรวม เงินฝากประจำ หรือแม้กระทั่งกรมธรรม์ประกันชีวิตก็มีมูลค่าเงินสดให้เวนคืน หรือสามารถใช้การกู้ส่วนหนึ่งของมูลค่าเงินสดในกรมธรรม์มาใช้ในยามฉุกเฉินได้ ดังนั้น ผู้ที่มีทรัพย์สินการลงทุนอื่นๆ หากทรัพย์สินเหล่านั้นมีสภาพคล่องเพียงพอ ก็อาจลดจำนวนเงินฉุกเฉินลงได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าการดึงเงินลงทุนอื่นๆ มาใช้เพื่อรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน จะส่งผลให้การบรรลุเป้าหมายทางการเงินด้านอื่นๆ ที่ตั้งไว้เปลี่ยนแปลงไปด้วย
- ปัจจัยอื่น
เช่น ผู้ที่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองควรมีเงินสำรองยามฉุกเฉินเพิ่มเติม เนื่องจากจะมีค่าซ่อมบำรุงที่อยู่อาศัยมากกว่าการเช่า เช่นกันถ้าคุณเป็นเสาหลักในการหารายได้ของครอบครัวก็ควรต้องมีเงินสำรองยามฉุกเฉินเพิ่มเติม เพื่อรองรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นกับสมาชิกในครอบครัว
ตัวอย่าง
นาย ก. เป็นพนักงานบริษัทเอกชน มีรายได้มั่นคง ไม่มีภาระหนี้สิน มีทรัพย์สินทั้งเงินลงทุนในกองทุนรวมและประกันแบบออมทรัพย์ ดังนั้น การมีเงินสำรอง 3-6 เดือนของค่าใช้จ่ายก็น่าจะเพียงพอ ในขณะที่ นาย ข. เป็นฟรีแลนซ์ รายได้ไม่ค่อยมั่นคง มีภาระหนี้ผ่อนรถยนต์ มีทรัพย์สินเพียงเล็กน้อย การมีเงินสำรองมากกว่า 6 เดือน ดูจะสอดคล้องกับสถานะของตนเอง
เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เงินที่เตรียมไว้อาจไม่พอ ควรทำอย่างไร?
ในบางสถานการณ์เงินสำรองที่เตรียมไว้อาจไม่เพียงพอ สิ่งแรกที่ทำได้ คือ ทบทวนสถานะทางการเงินของตัวเอง และทำการปรับลดค่าใช้จ่ายให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น เพื่อยืดเวลาในการรับมือกับสถานการณ์ให้ได้นานที่สุด และหากสถานการณ์ไม่เอื้อให้หารายได้เพิ่ม ทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องก็ขายมาใช้หมดแล้ว อาจต้องพิจารณาขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ ควรสร้างแผนการชำระคืนหนี้สินและสร้างเงินสำรองยามฉุกเฉินใหม่โดยเร็ว
สร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน
หากยังไม่มีภูมิคุ้มกันทางการเงิน ถึงเวลาแล้วที่จะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันด้วยแผนเก็บเงินสำรองยามฉุกเฉิน โดยเริ่มจากกำหนดจำนวนเงินเป้าหมายที่ต้องการ (กรณีที่เป็นมือใหม่ อาจเริ่มต้นตั้งเป้าหมายด้วยจำนวนเงินเท่ากับ 3 เดือนของค่าใช้จ่าย) ต่อมาสร้างแผนการออมแบบอัตโนมัติด้วยการออมก่อนใช้อย่างสม่ำเสมอ สุดท้ายคือ เลือกรูปแบบการเก็บเงินสำรองที่มีความปลอดภัยและมีสภาพคล่องสูง เช่น เงินฝากออมทรัพย์ ซึ่งหากลงมือทำทันทีก็สามารถสร้างปราการด่านแรกในการป้องกันปัญหาทางการเงินได้ไม่ยาก
ที่มาข้อมูล : https://www.set.or.th/set/education/knowledgedetail.do?contentId=6976&type=article