เช็กสุขภาพการเงินครึ่งปี
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ผ่านมาแล้วครึ่งปี สุขภาพการเงินแต่ละคนเป็นอย่างไรกันบ้าง ลองมาตรวจสอบกัน
ใช้โบนัสไปกับอะไรบ้าง
หลายคนที่ได้เงินโบนัสตอนต้นปี ลองเช็กกันหน่อยว่าใช้ไปกับอะไรบ้าง หากเกินครึ่งหนึ่งใช้ไปกับการโปะหนี้ ลงทุน หรือยังเก็บไว้อยู่ ก็ถือว่าทำได้ดี
แต่หากกว่าครึ่งของโบนัสถูกใช้ไปกับการใช้จ่าย ซื้อของใช้ส่วนตัว หรือท่องเที่ยว ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีนักเพราะสิ่งที่จ่ายไปไม่ได้ถูกนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว
เงินเดือนส่วนที่ขึ้นเก็บไว้บ้างรึเปล่า
คนส่วนใหญ่มักได้เงินเดือนขึ้นทุกปี จะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจและความขยันขันแข็งในการทำงาน และแม้ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นเช่นกันด้วยอิทธิพลจากอัตราเงินเฟ้อ แต่ก็อาจยังขึ้นน้อยกว่าเงินเดือน ดังนั้นเมื่อเงินเดือนขึ้น คนส่วนใหญ่ก็ควรมีเงินเก็บในแต่ละเดือนมากขึ้น
คำถาม คือ ผ่านมาครึ่งปีแล้ว เคยเช็กกันไหมว่า ปีนี้สามารถเก็บเงินในแต่ละเดือนได้มากกว่าปีที่แล้วแค่ไหน ยิ่งเก็บได้มากย่อมเป็นสิ่งดี แต่หากเก็บได้น้อย หรือยังไม่เคยเก็บเงินเลยไม่ว่าจะทำงานกี่ปี เงินเดือนขึ้นกี่ครั้ง ก็ต้องกลับมาหาสาเหตุและแก้ไข ก่อนที่จะประสบปัญหาการเงินในอนาคต
เงินสำรองมีพอรึยัง
เงินสำรองที่ว่า ได้แก่ เงินที่อยู่ในเงินฝากและกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นที่ขายคืนได้ทุกวันทำการ ซึ่งควรมีสัก 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน หากยังมีไม่ถึง ก็ควรทยอยเพิ่มโดยแบ่งจากเงินเดือนที่ได้รับทุกเดือน และหากปีหน้าได้รับโบนัสมาก็ควรกันมาสำรองส่วนนี้ก่อนเป็นลำดับแรก
เงินลงทุนอยู่ที่ไหนบ้าง
ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุนในรูปแบบกองทุนรวม สลากออมทรัพย์ หุ้นกู้ หุ้นสามัญ หรือทองคำก็ตาม โดยลองอัพเดทมูลค่าเงินลงทุนต่างๆ ให้เป็นปัจจุบัน จดบันทึกจำนวนเงิน และคำนวณเป็นสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ เพื่อเช็กว่าเงินส่วนใหญ่นำไปลงทุนกับอะไร และไม่ควรนำเงินสำรองมารวม เพราะเงินลงทุนนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผลตอบแทนหรือเพื่อเป้าหมายต่างๆ ส่วนเงินสำรองนั้นไว้เผื่อกรณีฉุกเฉินเท่านั้น
โดยเปอร์เซ็นต์ที่ว่า หลักๆ ควรแยกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนความเสี่ยงต่ำ เช่น สลากออมทรัพย์ หุ้นกู้ กองทุนรวมตราสารหนี้ ฯลฯ และส่วนความเสี่ยงสูง เช่น หุ้นสามัญ ทองคำ กองทุนรวมหุ้น ฯลฯ
เพื่อให้รู้ว่าปัจจุบันเราลงทุนในทางเลือกที่มีความเสี่ยงสูงเป็นสัดส่วนเท่าไร มากเกินไปจนหากขาดทุนจะส่งผลกระทบต่อฐานะการเงิน หรือน้อยเกินไปจนสูญเสียโอกาสสร้างผลตอบแทนทั้งที่เงินส่วนนี้สามารถลงทุนได้ในระยะยาว
การเงินก็เหมือนร่างกาย ที่ต้องหมั่นตรวจสุขภาพอยู่เสมอ เพราะหากตรวจพบความผิดปกติได้เร็ว โอกาสที่จะแก้ไขให้กลับมาสุขภาพดีก็เป็นเรื่องที่ง่ายกว่าการรอให้ปัญหานั้นลุกลามออกไป