เปรียบเทียบ "หุ้นโรงไฟฟ้า" EGCO vs. RATCH
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ในช่วงตลาดหุ้นผันผวน “หุ้นโรงไฟฟ้า” กลายเป็นขวัญใจของนักลงทุน เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในสภาวะไหน ธุรกิจโรงไฟฟ้าก็จะขายได้ตลอดเวลา เพราะว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องใช้
ถ้าเอ่ยถึงหุ้นโรงไฟฟ้า นักลงทุนทุกคนมองว่าเป็นหุ้นที่มีความปลอดภัย (Defensive Stock) เพราะมีผลการดำเนินงานสม่ำเสมอไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้นมากนัก เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ราคาหุ้นไม่ผันผวนตามไปด้วย จึงเหมาะกับนักลงทุนระยะยาวเพื่อเน้นรอรับเงินปันผล
โดยข้อดีของธุรกิจโรงไฟฟ้าที่น่าสนใจ เช่น บริษัทที่ผลิตไฟฟ้าขายได้เริ่มเข้าไปผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยพลังงานเหล่านี้สามารถนำมาใช้ได้ด้วยต้นทุนจึงทำให้ต้นทุนในการผลิตปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง
ธุรกิจโรงไฟฟ้ามีสัญญาซื้อขายไฟที่ชัดเจนกับการไฟฟ้าและผู้ซื้ออุตสาหกรรมอื่น ๆ และยังมีสัญญาขายไฟใหม่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็มีศักยภาพขยายธุรกิจไปต่างประเทศ ทำให้รายได้และกำไรเติบโตค่อนข้างสม่ำเสมอ
หากเอ่ยถึงหุ้นโรงไฟฟ้าที่โดดเด่นและเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมานาน คือ บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) และ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) โดยทั้งบริษัทสองแห่งนี้มีจุดกำเนิดเหมือนกัน เริ่มจากการเป็นธุรกิจของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาล และส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการลงทุนผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ
โดย EGCO ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นมหาชน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2537 ส่วน RATCH ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นมหาชน เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2543
สำหรับผู้ที่สนใจหุ้นไฟฟ้า ก่อนตัดสินใจลงทุนควรศึกษาข้อมูล ดังนี้
หนี้สิน
หุ้นโรงไฟฟ้าที่มีหนี้สูง ๆ ย่อมมีโอกาสเติบโตไม่ค่อยมาก เพราะศักยภาพการกู้เงินก็ลดลงถอยลง เนื่องจากติดเพดานหนี้สินต่อทุนที่มีการตกลงไว้กับสถาบันการเงิน ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนจึงควรดูระดับอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนทุน (D/E Ratio) ซึ่งอัตรา D/E Ratio ยิ่งต่ำยิ่งดี และควรต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าด้วย
แผนการเติบโต
นอกจากจะดูผลการดำเนินงานแล้ว ต้องดูการเติบโตในอนาคตด้วยว่ามีแผนการดำเนินธุรกิจอย่างไร เช่น แผนการเพิ่มโรงไฟฟ้าใหม่ การหาโครงการใหม่ ๆ การหาพันธมิตรร่วมลงทุน เป็นต้น ซึ่งแผนการที่ดีย่อมสร้างการเติบโตในระยะยาว
การกระจายความเสี่ยง
พิจารณาว่าบริษัทนั้นมีประเภทโรงไฟฟ้าไหนบ้าง รวมถึงมีการลงทุนทั้งในและต่างประเทศหรือไม่ ที่สำคัญส่วนประเภทของเชื้อเพลิงการผลิตควรมีหลากหลาย ทั้งก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และพลังงานทดแทน เพราะถ้าครบเครื่องก็ถือเป็นหุ้นโรงไฟฟ้าที่มีการกระจายความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ
ราคาหุ้น
การซื้อของดีในราคาแพงเกินไปอาจไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะมีหุ้นหลายตัวที่มีปัจจัยพื้นฐานดีแต่ราคาหุ้นวิ่งไปไกล ย่อมลดความคาดหวังในการสร้างผลตอบแทนและมีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ควรพิจารณาค่า P/E Ratio ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของตลาดและกลุ่มธุรกิจเดียวกัน
คำแนะนำนักวิเคราะห์
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากหุ้นตัวไหนที่นักวิเคราะห์แนะนำว่า “ซื้อ” สะท้อนให้เห็นว่ามีความน่าสนใจ เนื่องจากนักวิเคราะห์ได้ศึกษาข้อมูลและเข้าพบผู้บริหาร จากนั้นนำข้อมูลมาทำการวิเคราะห์และสรุปออกมาเป็นความเห็น ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนควรศึกษาข้อมูลบทวิเคราะห์จากหลายโบรกเกอร์