ถึงเวลาเก็บเงินเพื่อรับมือวิกฤตเกษียณอายุ
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ศาสตราจารย์ ดร. Hal Hershfield อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส ทำการวิจัยเพื่อหาคำตอบพฤติกรรมคนหนุ่มสาว โดยให้ผู้คนเข้าเครื่องสแกนสมองและขอให้นึกถึง 4 อย่าง ได้แก่ นึกภาพตัวเองในวันนี้ นึกภาพคนแปลกหน้าในวันนี้ นึกภาพคนแปลกหน้าในอีก 10 ปีข้างหน้า และนึกภาพตัวเองในอีก 10 ปีข้างหน้า
ผลการวิจัย พบว่าสมองจะนึกภาพรวดเร็วมากเมื่อนึกภาพตัวเองในวันนี้ นึกภาพลดลงมากเมื่อนึกภาพคนแปลกหน้าในวันนี้ และสมองจะไม่สนใจเท่าไหร่เมื่อให้นึกภาพตัวเองในอีก 10 ปีข้างหน้า สะท้อนได้ว่าในทางจิตวิทยา คนเราไม่เข้าใจตัวตนของตัวเองในอนาคต พูดง่าย ๆ บุคคลในอนาคตจะเหมือนคนแปลกหน้าสำหรับตัวเอง
จากนั้น ศาสตราจารย์ ดร.Hershfield ทำวิจัยเรื่อง การเก็บเงินเพื่อวัยเกษียณ “Retirement Savings” และได้คำตอบว่า ผู้คนไม่ได้ตัดสินใจทำสิ่งที่จะดูแลตัวเองในอนาคต เช่น ประเทศมั่งคั่ง (สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น) คนอายุ 65 ปี โดยเฉลี่ยมีเงินเก็บมากพอที่จะทำให้ตัวเองมีคุณภาพชีวิตเหมือนเดิมไปจนถึงอายุประมาณ 70 ปี และประเมินว่าตัวเองมีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 85 – 90 ปี แปลว่า เงินที่เก็บมาทั้งชีวิตจะพอใช้จนถึงอายุ 70 ปีต้น ๆ จากนั้นเงินจะลดลงเรื่อย ๆ และอาจไม่เพียงพอใช้ก่อนจะเสียชีวิต เป็นการส่งสัญญาณน่ากังวลว่าคนรุ่นใหม่อาจเก็บเงินไม่เพียงพอเพื่อไว้ใช้ยามแก่เฒ่า
รายงานผลการสำรวจทักษะการเงินปี 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงแม้คนไทย 74.7% ตอบว่ามีเงินออม แต่มีเพียง 38.0% ที่มีเงินออมเผื่อฉุกเฉินเพียงพอ ยิ่งไปกว่านั้นแม้ 84.7% ที่มีการวางแผนออมเพื่อวัยเกษียณ แต่มีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่สามารถทำได้จริงตามแผน
จากข้อมูล ธปท. (พฤษภาคม 2564) พบว่าจำนวนเงินฝากคนไทยที่ไม่เกิน 50,000 บาท เป็นสัดส่วนมากที่สุดประมาณ 95 ล้านบัญชี ขณะที่ยอดเงินฝากเกิน 50,000 บาท แต่ไม่ถึง 1 แสนบาท มีประมาณ 4.2 ล้านบัญชี ยอดเงินฝากเกิน 1 แสนบาท แต่ไม่ถึง 2 แสนบาท มีประมาณ 3.4 ล้านบัญชี ยอดเงินฝากเกิน 2 แสนบาท แต่ไม่ถึง 5 แสนบาท มีประมาณ 3.1 ล้านบัญชี ยอดเงินฝากเกิน 5 แสนบาท แต่ไม่ถึง 1 ล้านบาท มีประมาณ 1.5 ล้านบัญชี
สถิติดังกล่าว นึกถึงคำพูดของ Teresa Ghilarducci ผู้เขียนหนังสือ Rescuing Retirement บอกว่า คนส่วนใหญ่จะไม่สามารถมีมาตรฐานการครองชีพเหมือนเดิมหลังเกษียณ “หลังเกษียณ ชีวิตหลายคนจะเปลี่ยนจากชนชั้นกลางไปเป็นชีวิตที่เกือบจน”
ปลายปี 2562 ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน ทำการสำรวจผู้สูงอายุเกิน 60 ปีทั่วประเทศไทย พบว่ามากถึง 80% มีเงินออมไม่พอใช้หลังเกษียณ ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง และทำการสำรวจพฤติกรรมการออมของกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาททั่วประเทศจำนวน 2,186 ตัวอย่าง พบว่า 79% มีเงินออมเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 1,000 บาท ไม่ต่างจากผลสำรวจของ Spotlight on Thailand เมื่อปี 2561 เจอสถิติที่น่าตกใจว่าประชากรไทยกว่า 85% ยังมีเงินไม่พอเกษียณและยังไม่ได้วางแผนหรือเตรียมการใด ๆ เนื่องจากส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจด้านการลงทุนเพื่อวัยเกษียณ
ถึงแม้ปัจจุบัน ประเทศไทยจะมีระบบการออมเงินเพื่อใช้เมื่อเกษียณ ได้แก่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ถ้าเป็นข้าราชการ คือ กองทุนบำเหน็จ บำนาญ ข้าราชการ : กบข.) ประกันสังคม และในอนาคตจะมีการออมภาคบังคับ คือ กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) แต่คำถามคือ คนไทยจะมีเงินเพียงพอเพื่อใช้หลังเกษียณหรือไม่ แปลว่า การออมเงินกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (หรือ กบข.) ประกันสังคม หรือเบี้ยยังชีพผู้สูงวัย จะช่วยให้มีเงินใช้ยามเกษียณระดับหนึ่งเท่านั้น แต่การเกษียณต้องใช้เงินสูงมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงหาทางออกด้วยตัวเอง คือ เก็บออมและลงทุนด้วยตัวเอง
เมื่อตรวจสอบเงินออมในปัจจุบันมีอยู่เท่าไหร่ เพียงพอหรือไม่ ถ้ามั่นใจว่าเพียงพอก็สบายใจได้ แต่ถ้าคำนวณแล้วเงินเพื่อวัยเกษียณยังขาดก็ต้องวางแผนออมเงินเพิ่ม ด้วยการจัดพอร์ตลงทุนตามสไตล์และระดับความเสี่ยงที่รับได้
- รับความเสี่ยงได้ต่ำ : เน้นลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงต่ำและมีสภาพคล่องสูง เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้
- รับความเสี่ยงได้ปานกลาง : เน้นสินทรัพย์ที่มั่นคงและสร้างรายได้สม่ำเสมอ เช่น ตราราสารหนี้และหุ้นปันผล
- รับความเสี่ยงได้สูง : เน้นลงทุนสินทรัพย์เสียงสูงและเพิ่มค่าเงินลงทุนในระยะยาว เช่น หุ้นปันผล กองทุนรวมหุ้น
นอกจากการออมจะช่วยในยามฉุกเฉิน ขาดรายได้และยามเกษียณ การออมยังช่วยตัดวงจรหนี้ (ไม่เป็นหนี้เร็ว หนี้สูง หนี้นาน) ได้อีกด้วย นอกจากนี้ การวางแผนทางการเงินที่ดียังมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคน ดังนั้น หากคนไทยหันมาใส่ใจให้ความสำคัญ และเริ่มวางแผนการออมตั้งแต่เนิ่น ๆ วิกฤติทางการเงินในวัยเกษียณก็จะไม่เกิดขึ้น