×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

อยากเกษียณตอนอายุ 5O ปี ต้องมีเงินเท่าไหร่?

1,161

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย

Youtube | Facebook | TikTokInstagramLine 

 

โดยส่วนใหญ่ คนไทยจะมีเป้าหมายเกษียณจากการทำงานเมื่ออายุ 60 ปี ซึ่งมีเวลาประมาณ 30–35 ปีในการเก็บเงินเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณ และสมมติว่าจะมีชีวิตอยู่ถึงอายุ 85 ปี แสดงว่าจะมีชีวิตหลังเกษียณ 25 ปี ซึ่งก็ต้องวางแผนว่าจะต้องเก็บเงินเท่าไหร่ เพื่อใช้จ่ายอย่างสบายหลังเกษียณ 

 

ก่อนอื่นต้องดูความต้องการเงินใช้จ่ายในแต่ละวันหลังเกษียณ เช่น ต้องการใช้เงิน 20,000 บาทต่อเดือน (ประมาณ 667 บาทต่อวัน) จนถึงอายุ 85 ปี หมายความว่า ต้องมีเงินใช้ไปอีก 25 ปีหลังจากเกษียณ = 25 ปี x 365 วัน หรือมีชีวิตอยู่อีก 9,125 วัน เท่ากับต้องมีเงินเก็บ 6,086,375 บาท (ไม่รวมเงินเฟ้อ) เมื่ออายุ 60 ปี เพื่อใช้จ่ายวันละ 667 บาท (667 x 9,125)

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยความคิดของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป หรือเห็นความสำเร็จอย่างรวดเร็วของคนอื่นๆ จึงนำมาเป็นต้นแบบของตัวเอง ทำให้มีแผนการเกษียณก่อนอายุ 60 ปี ดังนั้น สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ต้องเตรียมความพร้อม คือ เงินเก็บ เพราะเมื่อเกษียณเร็ว การเตรียมเงินก็ต้องมากขึ้นตามไปด้วย

 

สมมติว่าตัดสินใจเกษียณอายุ 50 ปี แสดงว่าจะมีชีวิตหลังเกษียณ 35 ปี = 35 ปี x 365 วัน หรือมีชีวิตอยู่อีก 12,775 วัน เท่ากับต้องมีเงินเก็บ 8,520,925 บาท (ไม่รวมเงินเฟ้อ) เมื่ออายุ 50 ปี เพื่อใช้จ่ายวันละ 667 บาท (667 x 12,775)

 

จากตารางแสดงค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนหลังจากตัดสินใจเกษียณไปแล้ว เช่น ปัจจุบัน 25 ปี มีค่าใช้จ่าย 10,000 บาทต่อเดือน (120,000 บาทต่อปี) โดยมีแผนเกษียณตอนอายุ 50 ปี (อีก 25 ปีข้างหน้า) แต่เนื่องจากในแต่ละปีก็จะมีเงินเฟ้อ ดังนั้น เมื่อนำเงินเฟ้อมาคำนวณก็พบว่าค่าใช้จ่ายหลังจากเกษียณไปแล้วจะอยู่ที่ 251,253 บาทต่อปี และสมมติว่าจะมีชีวิตหลังเกษียณอีก 35 ปี (เสียชีวิตตอนอายุ 85 ปี) หมายความว่า ค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมหลังเกษียณเท่ากับ 15,191,301 บาท หรือพูดง่ายๆ ปัจจุบันอายุ 25 ปี มีแผนเกษียณอายุก่อนกำหนดที่อายุ 50 ปี จะต้องเตรียมเงินเอาไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณไปจนถึงอายุ 85 ปี จำนวน 15,191,301 บาท 

 

แน่นอนว่า หากมีค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนสูงขึ้นเท่าไร ก็ต้องเตรียมเงินเอาไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น หากต้องการไปให้ถึงเป้าหมายตามแผนที่วางเอาไว้ สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้และขาดไม่ได้ คือ การเตรียมพร้อมด้านการเงินให้เรียบร้อย

 

ถึงแม้จำนวนเงินจะแตกต่างกันระหว่างเกษียณเมื่ออายุ 50 ปีกับ 60 ปี แต่การเตรียมตัวการวางแผนการเงินไม่แตกต่างกัน เช่น 

  • การให้ความสำคัญของการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ เพื่อปิดความเสี่ยงหลังวัยเกษียณ คือ เงินไม่พอเลี้ยงชีวิต
  • ลงมือทำทันที โดยการสร้างวินัยการออม เช่น ต้องออมเงินให้ได้ 15% ของรายได้ในแต่ละเดือน
  • มีการบริหารรายรับรายจ่ายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามเส้นทางการเงิน เพราะยิ่งเงินเหลือมาก การออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณก็มีโอกาสเป็นไปได้มากตามไปด้วย
  • ศึกษาทางเลือกการออม การลงทุน และเลือกทางเลือกให้สอดคล้องกับอายุและความเสี่ยงที่ยอมรับได้
  • เข้าใจการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณว่าเป็นการวางแผนในระยะยาว ดังนั้น ในระหว่างทางในการออม การลงทุน ไม่ควรนำเงินก้อนนี้ไปใช้จ่ายอื่นๆ

 

นอกจากนี้ หากต้องการเกษียณอย่างสบาย ก็ต้องวางแผนให้ดีพอ อาจตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบให้ได้ชัดเจน เช่น

  • ต้องการเกษียณเมื่อไหร่ แน่นอนว่าผู้ที่มีระยะเวลาทำงานที่นานก็มีโอกาสที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณได้สบายกว่า เพราะจะได้มีเงินออมเตรียมเกษียณจำนวนมากขึ้นตามระยะเวลาที่ทำงาน อย่างไรก็ตาม หากต้องการเกษียณก่อนกำหนด ก็ต้องเตรียมเงินให้มากขึ้นและคิดถึงความเป็นไปได้ต่างๆ อย่างรอบคอบ
  • ต้องการอาศัยอยู่ที่ไหน ผู้ที่เกษียณแล้วหลายคนอาจจะเลือกอยู่ที่จังหวัดเดิม แต่บางคนอาจจะไปหาที่อยู่ใหม่ ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ค่าครองชีพถูกกว่า ราคาบ้านถูกกว่า ดังนั้น ก่อนตัดสินใจเกษียณควรวางแผนว่าจะไปใช้ชีวิตในบั้นปลายที่ไหน
  • ต้องการทำงานต่อไปหรือไม่ ไม่ใช่ทุกคนที่เกษียณแล้วก็หยุดทำงานแบบถาวร ผู้ที่เกษียณไม่น้อยยังคงอยากทำงานอยู่บ้างหรือแม้กระทั่งอาจจะยังอยากทำงานเต็มเวลาอยู่เพราะความจำเป็นหรือเพราะอยากทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ซึ่งก็ต้องตอบคำถามด้วยว่ายังต้องการทำงานหรือไม่ และยังมีคนยินดีจ้างอยู่หรือไม่ เพราะหากทำงาน แปลว่า ยังคงมีรายได้ประจำต่อไป
  • จัดการทรัพย์สินอย่างไร ก่อนเกษียณหลายคนลงทุนอย่างต่อเนื่องมาหลายปี และเมื่อเกษียณแล้วยังคงลงทุนในรูปแบบเดิม ซึ่งบางครั้งอาจต้องคิดว่าระดับความเสี่ยงที่รับได้มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หากเปลี่ยนไปแล้วก็ควรปรับพอร์ตลงทุน ให้เหมาะกับสถานการณ์และระดับความเสี่ยงตัวเอง

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats