สูตรสร้างความเจริญฉบับสิงคโปร์
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
…‘สิงคโปร์’ ประเทศเล็กๆ แต่เจริญติดอันดับโลก
…‘คนสิงคโปร์’ รวยขึ้นได้อย่างไร?
…เบื้องหลังความสำเร็จของสิงคโปร์คืออะไร?
สิงคโปร์ = Developed Country


ถามว่าเรื่องราวของสิงคโปร์มหัศจรรย์ขนาดไหน ส่วนหนึ่งอาจดูได้จาก GDP per capita หรือเรียกง่ายๆ ว่ารายได้เฉลี่ยต่อคนของชาวสิงคโปร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 168,000 บาท เมื่อปี 1980 มาเป็นเกือบ 90,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3 ล้านบาทในปัจจุบัน ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อคนของชาวไทยยังอยู่ที่เพียงประมาณ 7,800 ดอลลาร์ หรือ 262,000 บาท
ไม่เพียงแค่มาตรวัดในเรื่องของความร่ำรวย สิงคโปร์ยังได้ชื่อว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Country) หากวัดจากดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI) ซึ่งสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก จากข้อมูล ณ ปี 2022
‘ความขาดแคลน’ กลายเป็นความโชคดีที่ไม่คาดคิด
สิงคโปร์ ประเทศที่เป็นเพียงเกาะขนาดเล็ก มีพื้นที่เพียง 724.2 ตารางกิโลเมตร หรือขนาดพื้นที่ครึ่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติมากนัก น้ำประปา ไฟฟ้า และสาธารณูปโภค ต้องพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้าน มีประชากรเพียงกว่า 5 ล้านคน แต่ใช้เวลาในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศในระยะเพียง 1 ชั่วอายุคนเท่านั้น
นับจากวันที่ 9 สิงหาคม 1965 สิงคโปร์แยกตัวออกมาเป็นอิสระจากมาเลเซียและกลายมาเป็นประเทศสิงคโปร์อย่างทุกวันนี้ ในช่วงแรกสิงคโปร์เผชิญกับความท้าทายอย่างมาก โจทย์ในตอนแรกไม่ใช่ว่าสิงคโปร์จะกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้อย่างไร แต่เริ่มจากเพียงแค่ว่าสิงคโปร์จะเอาตัวรอดได้อย่างไร
ด้วยสภาพที่เป็นเกาะขนาดเล็กและยากจน มีประชากรหลากหลายที่ส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพเข้ามาใหม่ ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ และอัตราการว่างงานที่สูงถึง 9% ซึ่งพวกเขารู้ถึงข้อจำกัดเหล่านี้ดี
สิ่งหนึ่งที่สิงคโปร์ทำคือการพยายามสร้างความแตกต่างและสร้างจุดแข็งให้กับตัวเอง เมื่อมองไปรอบๆ มองไปยังประเทศที่อาจจะมีความพร้อมด้านทรัพยากรมากกว่า มีคนเยอะมาก แต่ปัญหาของประเทศเหล่านั้นคือ การมีระบบที่ไม่โปร่งใส มีกฎหมายที่ยุ่งเหยิง สิงคโปร์จึงทำตรงกันข้าม สร้างระบบที่ดี ทำกฎหมายให้มั่นคง และเมื่อตกลงและตัดสินใจแล้วก็ยึดมั่นในสิ่งเหล่านั้น
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่น่าเชื่อถือและได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุน และการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติที่ดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคในตอนแรก ก็มีมุมที่ดีซ่อนอยู่ ความขาดแคลนกลายเป็นความโชคดีที่ไม่คาดคิด การพึ่งพาโลกภายนอกบังคับให้สิงคโปร์ต้องคิดในแง่ของเครือข่ายระดับโลก เพื่อความอยู่รอด ประเทศต้องมุ่งเน้นที่จะเป็นคู่ค้าที่มีคุณค่าและมั่นคง
สูตรลับ 5 ข้อ เบื้องหลังความสำเร็จของสิงคโปร์
งานวิจัยที่ชื่อว่า Why Singapore works: five secrets of Singapore’s success ซึ่งเขียนโดย Jon S.T. Quah ซึ่งกล่าวถึงเคล็ดลับความสำเร็จ 5 ประการ ที่ทำให้สิงคโปร์ประสบความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบัน
1. ผู้นำที่เฉียบแหลม
ลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ ดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 31 ปี ระหว่างปี 1959-1990 และกลายมาเป็นผู้ที่วางรากฐานความสำเร็จของประเทศ
ลี กวน ยู นำสิงคโปร์เปลี่ยนจากประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เขาส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศและการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี และบริการทางการเงิน
ในช่วงแรกของการเป็นเอกราช สิงคโปร์ประสบปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยอย่างรุนแรง ลี กวน ยู จัดตั้ง Housing and Development Board (HDB) เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ปัจจุบัน ชาวสิงคโปร์กว่า 80% อาศัยอยู่ในแฟลตของ HDB ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ
นอกจากนี้ ลี กวน ยู ยังให้ความสำคัญกับการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจัง เขาสร้างระบบกฎหมายและหน่วยงานที่เข้มแข็งเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทำให้สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีคอร์รัปชันน้อยที่สุดในโลก
2. ระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ
ระบบราชการของสิงคโปร์มีชื่อเสียงในเรื่องความซื่อสัตย์และประสิทธิภาพในการทำงาน เรื่องเงินก็เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ข้าราชการของสิงคโปร์ได้รับเงินเดือนที่สูงและมีสวัสดิการที่ดี เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถและป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน นอกจากนี้ยังมีการปรับเงินเดือนให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานภาคเอกชน เพื่อให้ข้าราชการมีแรงจูงใจในการทำงานอย่างเต็มที่
สิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกในด้านความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประสิทธิภาพของระบบราชการ รวมทั้งยังเป็นอันดับต้นๆ ของโลกในด้านความสะดวกในการทำธุรกิจ
เซอร์ เคนเนธ สโตว์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุขและประกันสังคมของสหราชอาณาจักร ได้อธิบายว่า “บริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและได้รับการปรับแต่งอย่างดี” เป็นเหมือน “เปียโนที่ดี” ซึ่งไม่ควร “เล่นดนตรีที่ไม่ดี” โดย “ไม่รับใช้จุดประสงค์ที่ผิดพลาดจากการออกแบบหรือความไร้ความสามารถของรัฐมนตรี”
3. การควบคุมคอร์รัปชัน
งานวิจัยของ Quah ระบุว่า ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในช่วงปี 1960 ถึง 2016 หนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จนี้คือ การรักษาระดับคอร์รัปชันให้อยู่ในระดับต่ำ สำนักงานสอบสวนการทุจริต (CPIB) เป็นผู้บังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันการทุจริต (POCA) สิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่คอร์รัปชันน้อยที่สุดในเอเชียตามดัชนีการรับรู้การทุจริตของ Transparency International ในปี 2016 และ 2017
4. การลงทุนด้านการศึกษา
ความสำเร็จของสิงคโปร์จากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว หนึ่งในกุญแจที่สำคัญคือ การพึ่งพาประชาชนที่ “เก่งที่สุดและฉลาดที่สุด” ซึ่งทำได้ผ่านการลงทุนด้านการศึกษาและค่าตอบแทนที่แข่งขันได้
รัฐบาลลงทุนอย่างหนักด้านการศึกษา โดยมองว่าเป็น “การลงทุนของชาติ” สิ่งนี้ส่งผลให้ประชากรมีทักษะสูง ดังที่เห็นได้จากผลการประเมินผลนักเรียนของสิงคโปร์ในระดับสากล ข้าราชการได้รับค่าตอบแทนที่แข่งขันได้เพื่อดึงดูดและรักษาคนเก่งไว้ ตัวอย่างเช่น เงินเดือนของข้าราชการระดับสูงนั้นอิงจากค่าเฉลี่ยเงินเดือนของผู้มีรายได้สูงสุดในสาขาอาชีพเฉพาะ
อย่างในช่วงปี 1982, 1988, 1989 และ 1994 รัฐบาลเร่งขึ้นเงินเดือนของข้าราชการเพื่อให้ทันกับภาคเอกชน ในปี 1994 มีการออก White paper ที่ชื่อว่า ‘Competitive Salaries for Competent and Honest Government’ ที่ระบุว่าเงินเดือนของรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูงจะถูกตรึงไว้ที่เงินเดือนเฉลี่ยของผู้มีรายได้สูงสุดในหกอาชีพในภาคเอกชน
ตัวอย่างเช่น ในปี 1994 เงินเดือนของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์อยู่ที่ 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 25 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเงินเดือนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น เงินเดือนของรัฐมนตรีอยู่ที่ประมาณ 400,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 10 ล้านบาท และเงินเดือนของข้าราชการระดับสูงอยู่ที่ประมาณ 200,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 5 ล้านบาท
นโยบายนี้ช่วยให้สิงคโปร์ดึงดูดและรักษาคนเก่งไว้ในภาคการบริการสาธารณะ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ
5. การเรียนรู้จากประเทศอื่น
ความแข็งแกร่งที่สำคัญของรัฐบาลพรรค PAP คือความเต็มใจที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศอื่น โดยไม่ทำผิดซ้ำในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ใช้ในการจัดการกับปัญหาต่างๆ
กระบวนการเรียนรู้และปรับใช้ มี 3 ขั้นตอน ได้แก่
1. ระบุปัญหาและส่งทีมผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ไปศึกษาดูงานในศูนย์เทคนิคและองค์กรที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาเดียวกัน
2. เชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติมายังสิงคโปร์เพื่อให้ความเห็นอย่างมืออาชีพ
3. กำหนดนโยบายจากแนวคิดที่เลือกจากสิ่งที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาและปรับให้เหมาะกับความต้องการเฉพาะของสิงคโปร์ หากแนวคิดและขั้นตอนที่ใช้ในที่อื่นไม่เหมาะสมกับความต้องการของสิงคโปร์ ก็จะไม่นำมาใช้
เรื่องราวของสิงคโปร์เป็นบทพิสูจน์ว่า แม้จะเผชิญกับข้อจำกัดและความท้าทายมากมาย แต่ประเทศก็สามารถสร้างความเจริญรุ่งเรืองได้หากมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ที่เหมาะสม และความมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสิงคโปร์จะเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกประเทศจะสามารถทำตามแบบสิงคโปร์ได้โดยตรง แต่ละประเทศต้องหาเส้นทางของตัวเอง โดยเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่นและปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตนเอง สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีผู้นำที่กล้าตัดสินใจและมุ่งมั่นที่จะนำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน