อย่าเลย! #COVID19 ไม่ใช่เวลาที่ต้อง Productive
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
Aisha S. Ahmad ผู้เชี่ยวชาญผู้ผ่านวิกฤติมาหลายรูปแบบ ทั้งสงคราม ความยากจน โรคระบาด ภาวะขาดแคลนอาหารและมหันตภัยนานาในหลายประเทศ นำเสนอบทความ Why You Should Ignore All That Coronavirus-Inspired Productivity Pressure (อย่าเลย #COVID19 ไม่ใช่เวลาที่ต้อง Productive) ซึ่ง ทีปกร วุฒิพิทยามงคล เรียบเรียงไว้อย่างน่าสนใจ Wealth Me Up จึงขอนำมาแบ่งปัน เพื่อให้เราฝ่าฝันจากวิกฤตินี้ไปด้วยกัน
สิ่งสำคัญที่ Aisha S. Ahmad เขียนไว้คือ เราต้องแบ่งวิธีรับมือกับวิกฤติออกเป็นขั้น
ขั้นแรก | ให้เวลาปรับสภาพจิตใจ
บอกตัวเองว่าเป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกแย่ และเคว้งคว้างท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนี้ คิดเสียว่าที่ตัวเองรู้สึกแย่นั้นเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องดีที่เรายอมรับความจริง เปิดโอกาสให้ตัวเองค่อยๆ ทำใจ “คนสติดีๆ เขาคงไม่รู้สึกดีท่ามกลางวิกฤติระดับโลกหรอก ดังนั้นขอให้รู้สึกดีเสีย ที่คุณรู้สึกไม่สบายอกไม่สบายใจนัก”
ในขั้นนี้พยายามพุ่งความสนใจไปที่ปัจจัยพื้นฐานอย่างอาหาร ครอบครัว เพื่อนและสุขภาพในบางส่วน (อย่าตั้งความหวังกับการออกกำลังกายมากเกินไปนัก แค่พยายามสักหน่อยก็พอแล้ว) เลิกสนใจทุกคนที่โพสต์คลั่ง productivity (เธอใช้คำว่า productivity porn – ซึ่งผมว่าเป็นคำที่เหมาะมากในการอธิบายปรากฏการณ์นี้) Ahmad บอกว่าการที่จู่ๆ คุณจะตกใจตื่นขึ้นมาตอนตีสามถือว่าเป็นเรื่องโอเค
การที่คุณลืมกินข้าวกลางวันและไม่ได้เข้าคลาสโยคะออนไลน์ก็ถือว่าโอเค และก็โอเคเหมือนกันที่คุณไม่ได้แตะงานที่คั่งค้างมาสามสัปดาห์แล้ว – ให้เวลาตัวเองหน่อย อย่าสนใจคนที่อวดว่าตัวเองทำงานได้มากแค่ไหน พวกเขาเดินบนเส้นทางที่ต่างจากเราในตอนนี้ – ตัดเสียงรบกวนพวกนั้นทิ้งเสีย ขอให้ตระหนักว่าคุณไม่ใช่คนล้มเหลว ตอนนี้ไม่มีเรื่องอะไรที่คุณต้องทำ นอกจากใส่ใจดูแลตัวเอง ดูแลร่างกาย ดูแลหัวใจ ดูแลคนใกล้ชิด สร้างระบบรองรับทางสังคมที่จะยั่งยืนในระยะยาว
ขั้นที่สอง | ปรับมุมมอง
เมื่อคุณปรับสภาพจิตตนเองและคนรอบข้างให้รู้สึกปลอดภัยขึ้นแล้ว คุณก็จะรู้สึกมั่นคงขึ้น ร่างกายและหัวใจจะค่อยๆ ปรับตาม คุณจะเริ่มท้าทายตัวเองได้บ้าง ใช้เวลาสักพัก สมองของคุณจะปรับเข้าสู่ระนาบใหม่ที่มีวิกฤติเป็นฐาน และคุณจะเริ่มทำงานที่ท้าทายขึ้นได้ ไม่ต้องรีบร้อน – โดยเฉพาะถ้าคุณไม่เคยเจอวิกฤติใหญ่ขนาดนี้มาก่อน พยายามละ “ภาพเปลือกนอก” ทิ้งไปเสีย และสนใจ “สิ่งที่เป็นตัวตนอันแท้จริง” การปรับมุมมองต้องอาศัยทั้งความเข้าใจตนเอง ถ่อมตน และความอดทน
การเปลี่ยนผ่านของมนุษญ์ช่วงนี้จะทั้งสัตย์ซื่อ ตรงไปตรงมา ทั้งดิบดิน อัปลักษณ์ ทั้งเปี่ยมความหวังและความงุ่นงาย ทั้งงดงามและสูงส่ง มันจะเกิดขึ้นอย่างเชื่องช้า – นั่นไม่ใช่เรื่องแปลก – จงเชื่องช้าตามมัน – จงยอมให้สิ่งที่เกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงตัวตนและวิธีที่คุณมองโลกไป
ขั้นที่สาม | โอบรับ New Normal
เมื่อปรับตัวได้แล้ว สมองอันปราดเปรื่อง สร้างสรรค์ และยืดหยุ่นจะรอคุณอยู่ เมื่อพื้นฐานแข็งแรงแล้ว ค่อยสร้างตารางภารกิจประจำสัปดาห์ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองและคนรอบข้าง แล้วค่อยสกัดเวลาออกมาทำงาน ขอให้ทำงานง่ายๆ ก่อน แล้วค่อยไต่ระดับสู่งานที่หนักหนาในภายหลัง ถึงตอนนี้การตื่นเช้า โยคะออนไลน์ ออกกำลังกายตามยูทูปอาจง่ายขึ้น คุณจะรู้สึกว่าสิ่งต่างๆ รอบตัวดูปกติมากขึ้น งานก็จะเริ่มเข้ารูปเข้ารอย คุณจะรู้สึกสะดวกใจกับความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ไอเดียใหม่ๆ จะเริ่มผุดเข้ามา – เรื่องนี้จะเป็นไปไม่ได้เลยหากคุณปฏิเสธไม่ยอมรับความจริง – โอบรับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพจิตสภาพใจต่อไป
ขอให้เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นดังการวิ่งมาราธอน ถ้าคุณวิ่งห้อในตอนแรก คุณก็อาจหมดเรี่ยวแรงไม่เหลือกำลังตอนสิ้นเดือน เตรียมใจว่าวิกฤตินี้อาจยาวนาน 12-18 เดือน แล้วจะตามมาด้วยการฟื้นฟูอย่างช้าๆ แน่นอน จะมีวันที่การระบาดนี้สิ้นสุด เราจะได้กอดเพื่อนอีกครั้ง เราจะได้เข้าเรียนในโรงเรียน ได้ดื่มกาแฟในร้านอีก เราจะเดินทางได้ ระบบเศรษฐกิจของเรา สักวันหนึ่งจะกลับมายืนหยัดได้อีกครั้ง
แต่ตอนนี้เราเพิ่งเริ่มต้นการเดินทางเท่านั้น บางคนยังปรับใจไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ด้วยซ้ำ บางคนถมที่ว่างในใจด้วยการทำงานหนัก – นั่นเป็นเพียงภาพลวงตา เป็นเพียงการไม่ยอมรับความจริง – ให้เวลาตัวเอง ยอมรับการเปลี่ยนแปลง แล้วค่อยๆ โอบรับความจริงใหม่
ที่มาข้อมูล:
– https://www.chronicle.com/article/Why-You-Should-Ignore-All-That/248366/
– Facebook: Teepagorn Champ Wuttipitayamongkol