4 แหล่งพักเงินสด
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ในเวลาที่นักลงทุนกำลังหาหนทางโยกเงินหรือลดสัดส่วนเงินลงทุนจากแหล่งที่ไม่มั่นใจไปพักในแหล่งที่ปลอดภัยขึ้น สิ่งที่กังวลก็คือ เงินก้อนที่จะเอาออกมานั้นจะเอาไปไว้ที่ไหนดี ที่จะให้ “ผลตอบแทนเหมาะสม” และ “เงินต้นไม่หาย” ถ้าอย่างนั้นลองมาดูกันว่า ควรจะวิเคราะห์เรื่องนี้กันอย่างไร
ก่อนอื่นต้องเล่าก่อนว่าปัจจุบัน “แหล่งพักเงิน” ที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้เร็วมีด้วยกัน 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มกองทุนตราสารหนี้
มีตั้งแต่กลุ่มกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น (Money Market) และกองทุนตราสารหนี้ที่มีอายุตราสาร (Duration) เกิน 1 ปี ซึ่งมีผลตอบแทนสูงกว่า
บัญชีเงินฝาก
ทั้งแบบบัญชีออมทรัพย์อัตราดอกเบี้ยพิเศษและบัญชีฝากประจำ
หากวิเคราะห์แหล่งพักเงินทั้งหมดนี้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจและใช้ความระมัดระวังที่แตกต่างกัน
3 ข้อต้องระวัง
ระยะเวลาในการเปลี่ยนเป็นเงินสดของกองทุนตราสารหนี้
หากเป็นกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เมื่อขายออกจะได้รับเงินสดในวันทำการถัดไป (T+1) ส่วนกองตราสารหนี้ระยะกลาง บางกองอาจเป็น (T+2) หรือบางกองอาจมีข้อจำกัดตามแต่กองทุนนั้นๆ ระบุไว้
ความผันผวนของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) กองทุนตราสารหนี้
เนื่องจากผู้จัดการกองทุนมักจะลงทุนในตราสารหนี้ (หุ้นกู้, พันธบัตร) ที่ซื้อขายในตลาดรอง ซึ่งจำเป็นต้องมีการแสดงราคาตลาดให้เป็นปัจจุบัน (Mark to Market) ตามราคาที่มีการซื้อขายในตลาดในแต่ละวัน ทำให้มีโอกาสที่ NAV จะลดลงหากราคาตราสารหนี้ลดลง จากสาเหตุต่างๆ ดังนี้
- การผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้
- เครดิตเรตติ้งที่ลดลงจากสถานะการดำเนินงานของผู้ออกตราสารหนี้
- อัตราดอกเบี้ยตราสารหนี้ฉบับใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาตราสารหนี้เดิมต้องลดราคา เพื่อให้ผู้ซื้อรายใหม่ ได้รับผลตอบแทนใกล้เคียงกับตราสารหนี้ออกใหม่
- อัตราแลกเปลี่ยน กรณีมีการนำเงินไปลงทุนต่างประเทศ
การเปลี่ยนแปลงของภาวะอัตราดอกเบี้ย
ซึ่งมีการปรับขึ้นลงตามสภาวะเศรษฐกิจ ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ราคาหน่วยลงทุนของกองทุนตราสารหนี้ ณ สิ้นวัน อาจปรับตัวลดลงจนทำให้นักลงทุนมีโอกาสขาดทุนหรือได้ผลตอบแทนลดลง ในขณะที่การฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์มีโอกาสได้ดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น
ถึงแม้ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังอยู่ในระดับ “คงที่” แต่ด้วยแรงกดดันจากภายนอกและแนวโน้มเงินเฟ้อที่ค่อยๆ ปรับตัวขึ้น ทำให้ในอนาคตข้างหน้า ประเทศไทยก็มีโอกาสที่ดอกเบี้ยจะอยู่ในขาขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ทางเลือกที่น่าสนใจ คือการฝากเงินออมทรัพย์ดอกเบี้ยพิเศษ หรือฝากประจำระยะไม่เกิน 1 ปี มากกว่าการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น
การพักเงินในแหล่งที่ปลอดภัย ไม่มีคำตอบใดเป็นคำตอบสุดท้ายแบบตายตัว เพราะแต่ละช่วงเวลา แต่ละช่วงสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปก็ส่งผลกระทบต่อแหล่งพักเงินต่างๆ ต่างกันออกไป ดังนั้น สำคัญที่สุดก็คือ นักลงทุนควรจะเข้าใจหลักการเพื่อใช้เปรียบเทียบและลงทุนให้เหมาะสมที่สุดในช่วงเวลานั้นๆ
ที่มาข้อมูล : https://www.set.or.th/set/education/knowledgedetail.do?contentId=4886&type=article