ความเสี่ยงมนุษย์เงินเดือน กับสิทธิประกันสังคม
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
หากจะจัดว่าอาชีพอะไรมั่นคงมากที่สุด ถ้าถามคนยุค Baby boom หรือ Gen-X ก็น่าจะได้คำตอบเหมือนกันว่าอาชีพมนุษย์เงินเดือน หรือแม้ถามเด็กรุ่นใหม่ คนส่วนใหญ่ก็น่าจะตอบอาชีพมนุษย์เงินเดือนเหมือนกัน เพราะส่วนใหญ่เมื่อเรียนจบก็มองหาสมัครงานตามองค์กรต่างๆนั่นเอง
ทำไมอาชีพมนุษย์เงินเดือนถึงจัดว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง ก็น่าจะเป็นเพราะไม่ต้องใช้เงินลงทุนอะไรนอกจากแรงและเวลา โดยได้รับผลตอบแทนที่แน่นอนทั้งจำนวนเงินและเวลา แถมยังได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานอีก แถมในอดีตมีวัฒนธรรมการจ้างงานตลอดชีวิต เลยยิ่งทำให้อาชีพมนุษย์เงินเดือนได้รับการยอมรับว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง
แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาชีพมนุษย์เงินเดือนมีความเสี่ยงมากมาย หากเราพิจารณาสมการความเสี่ยง
ความเสี่ยง = โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ * ขนาดของความเสียหายเมื่อเกิดเหตุการณ์
แปลว่าหากมีโอกาสเกิดขึ้นมาก และขนาดของความเสียหายเมื่อเกิด ตัวอย่างที่อธิบายเรื่องความเสี่ยงได้ดี ก็คือ มอเตอร์ไซค์ หากถามว่าระหว่างมอเตอร์ไซค์กับรถเก่งอย่างไหนมีความเสี่ยงมากกว่ากัน ก็คงตอบเหมือนกันว่า มอเตอร์ไซค์เสี่ยงกว่ารถเก๋ง เหตุผลก็เพราะมอเตอร์ไซค์มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากกว่ารถเก๋ง และเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว คนขับมอเตอร์ไซค์มักจะเกิดความเสียหายมากกว่าคนขับรถเก๋ง เป็นต้น
แล้วอย่างนี้มนุษย์เงินเดือนจะมีความเสี่ยงอะไรบ้าง แนวคิดง่ายๆก็ดูที่ความคุ้มครองของกองทุนประกันสังคมนั่นแหละที่บอกถึงความเสี่ยงของมนุษย์เงินเดือน
ความคุ้มครองของกองทุนประกันสังคมสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 (ลูกจ้างที่ทำงานให้กับนายจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คน ขึ้นไป) จะได้รับความคุ้มครอง 7 กรณี ดังนี้ กรณีเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ กรณีว่างงาน ทั้งหมดนี้คือ ความเสี่ยงของมนุษย์เงินเดือน แต่จะมีความเสี่ยง 2 ประเภทที่ถือเป็นความเสี่ยงใหญ่ของมนุษย์เงินเดือน นั่นก็คือ กรณีว่างงาน และ กรณีชราภาพ
กรณีว่างงาน
เรามาเริ่มที่ความเสี่ยงกรณีว่างงานกันเลย หากพิจารณาสมการความเสี่ยง โอกาสของการว่างงานมีสูงขึ้นมากในปัจจุบัน วิกฤติ Covid ทำให้คนไทยต้องปรับตัวกับวัฒนธรรมใหม่ที่การถูกเลิกจ้างเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ส่วนขนาดของความเสียหายเมื่อถูกเลิกจ้างก็รุนแรงมากเช่นกัน คือ รายได้จาก 100% จะเหลือ 0% เลยทันที ขนาดของความเสียหายก็ต้องพิจารณาถึงระยะเวลาของการว่างงานด้วย ยิ่งเราต้องว่างงานมาก ขนาดของความเสียหายก็ยิ่งมาก โดยเฉลี่ยแล้ว ระยะเวลาการหางานใหม่ในภาวะปกติจะอยู่ที่ 6 เดือน ดังนั้น ความคุ้มครองของประกันสังคมกรณีว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง หรือกรณีว่างงานจากวิกฤติ Covid ที่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย จึงกำหนดให้ผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงานอัตรา 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน
- ว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 หมายความว่า เหตุใดฯอันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น
การระบาดของไวรัสโควิด19 และมาตรการป้องกันการระบาดของรัฐบาลก่อให้เกิดข้อขัดข้องต่อประชาชนบางคนที่ไม่อาจประกอบกิจการงานได้ตามปกติ รวมทั้งเกิดข้อขัดข้องในการปฏิบัติภาระตามกฎหมายหรือตามข้อตกลง และก่อให้เกิดข้อขัดข้องในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการภาคเอกชนจำนวนมากที่ไม่อาจปฏิบัติตามข้อผูกมัดต่อคู่สัญญา หรือภาระหน้าที่ตามกฎหมายได้ หรืออาจปฏิบัติได้ล่าช้ากว่าที่กำหนดถือเป็นเหตุสุดวิสัย
- ว่างงานจากการลาออกเอง
กรณีลูกจ้างลาออกเอง แสดงว่าเป็นเจตนาของลูกจ้าง อาจเป็นเพราะได้งานใหม่ ได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงานอัตรา 30% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน
แต่ภาวะ Covid ก็เตือนให้เราตระหนักว่า ระยะเวลาที่เราคิดว่าน่าจะหางานใหม่ได้ใน 6 เดือนอาจไม่เพียงพอ เพราะจนถึงนับจากเริ่มเกิด Covid ถึงตอนนี้ก็เกือบ 2 ปีแล้ว หลายคนที่ตกงานยังหางานใหม่ไม่ได้เลย และวิกฤติ Covid ยังทำให้ New normal ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ มนุษย์เงินเดือนก็จะมีความเสี่ยงของการว่างงานมากยิ่งขึ้นไปอีก
เมื่อพูดถึงความเสี่ยงว่างงานแล้ว เราก็ต้องพูดถึงความเสี่ยงของการไม่ว่างงานด้วยเช่นกัน แม้เราไม่ตกงานก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่เสี่ยง เหตุผลเพราะการจ้างงานในยุคหลัง Covid ต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถที่สูงขึ้น หากเราไม่สามารถปรับตัวหรือพัฒนาตนเองได้ เราก็อาจได้ทำงานที่มีคุณค่าของงานไม่สูง รายได้ไม่สูง การเพิ่มขึ้นของรายได้ไม่สูง ขณะที่ค่าใช้จ่ายปรับสูงขึ้นทุกวันตามอัตราเงินเฟ้อ เราจึงไม่ค่อยเห็นคนที่รวยจากการเป็นมนุษย์เงินเดือนเลย แถมมนุษย์เงินเดือนหลายคนมีรายได้ไม่พอใช้จ่ายด้วยซ้ำ
กรณีชราภาพ
กรณีชราภาพ เป็นความเสี่ยงที่น่ากลัวที่สุดสำหรับมนุษย์เงินเดือน คิดดูง่ายๆ ในวิกฤติ Covid เราตกงานมาหลายเดือน ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลมากมาย ให้เงินช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นคนละครึ่ง เราชนะ เรารักกัน ฯลฯ คนที่เป็นหนี้ ก็มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 เรายังรู้สึกเดือดร้อน รู้สึกเครียด รู้สึกกังวลกับเรื่องสุขภาพ และเรื่องการทำมาหากิน แต่เราก็คงเคยได้ยินคนพูดกันว่า “ Covid คือการซ้อมเกษียณ” แปลว่า Covid ที่ว่ารุนแรง ที่ว่าน่ากลัว ตอนเกษียณน่ากลัวกว่า
- ตกงานตอน Covid ยังมีหวังว่าเมื่อ Covid จบงานน่ากลับมา ตกงานตอนเราเกษียณมีโอกาสตกงานตลอดชีวิต
- เป็นหนี้ตอน Covid รัฐบาลช่วยเหลือ เป็นหนี้ตอนเกษียณ ไม่มีใครช่วย ต้องช่วยตัวเอง
- ตอน Covid รัฐบาลช่วยเรื่องค่าใช้จ่าย มีเงินให้จากมาตรการต่างๆ เช่น คนละครึ่ง เรารักกัน ฯลฯ ตอนเกษียณมีแค่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
- ตอน Covid เรายังสุขภาพแข็งแรง ตอนเกษียณ ปัญหาสุขภาพกลับเป็นปัญหาใหญ่
ทำไมเรื่องเกษียณถึงเป็นปัญหาใหญ่ของมนุษย์เงินเดือน เหตุผลเพราะช่วงชีวิตวัยเกษียณจะกินเวลาประมาณ 20-30 ปี หรือประมาณ 25% – 30% ของช่วงชีวิตเลยทีเดียว ปัญหาใหญ่ในวัยเกษียณที่มนุษย์เงินเดือนจะพบ คือ
- ปัญหาเรื่องการเงิน
ในกรณีโชคดีมนุษย์เงินเดือนมีระยะเวลาหาเงินไม่เกิน 40 ปี (เริ่มทำงานอายุ 20 เกษียณอายุ 60) เมื่ออายุถึง 60 ปี รายได้จากเดิม 100% จะเป็น 0% ทันที รายได้หยุด แต่ค่าใช้จ่ายไม่หยุด เงินที่มนุษย์เงินเดือนจะเอามาใช้ยามเกษียณ ก็คือ เงินที่เหลือออมจากเงินที่หาหลังหักค่าใช้จ่ายตลอด 40 ปี และต้องใช้เงินก้อนนี้อย่าให้หมดก่อนวันสิ้นอายุขัย แปลว่า เงินที่หาตลอด 40 ปี ต้องบริหารให้พอใช้ตลอด 40 ปีที่ทำงานและเก็บไว้ใช้อีก 20-30 ปียามเกษียณ เท่ากับหาเงิน 40 ปี เพื่อใช้ 60 – 80 ปี
แต่หากกรณีโชคร้าย ถูกเลิกจ้าง หรือเกษียณอายุก่อนกำหนด (early retire) ระยะเวลาทำงานหาเงินสั้นลง แต่อายุขัยเท่าเดิม แปลว่าระยะเวลาใช้เงินจะยาวมากขึ้น ปัญหาเรื่องการเงินจะยิ่งสูงขึ้น
สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพของกองทุนประกันสังคมเป็นสิทธิประโยชน์ที่คุ้มครองความเสี่ยงด้านการเงินในยามเกษียณให้กับมนุษย์เงินเดือน โดยแยกเป็น 2 กรณีดังนี้
- กรณีบำนาญชราภาพ
เงื่อนไข: ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน (ไม่จำเป็นต้องจ่าย 180 เดือนติดต่อกัน)
ถ้าจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือนจะได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน ในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
ถ้าจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนจะได้รับการปรับเพิ่มบำนาญชราภาพอีกร้อยละ 1.5 สำหรับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนทุกๆ 12 เดือนที่จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนนั้น
- กรณีบำเหน็จชราภาพ
เงื่อนไข : จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน
ถ้าจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ
ถ้าจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ พร้อมทั้งผลประโยชน์ตอบแทนที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
กรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือนนับตั้งแต่ได้สิทธิบำนาญชราภาพ จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต
- ปัญหาสุขภาพ
มนุษย์เงินดือนตอนทำงาน มีเงินเดือน มีสวัสดิการรักษาพยาบาล แต่มักไม่ป่วย แต่ตอนวัยเกษียณจะเป็นวัยที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ เงินเดือนก็ไม่มี สวัสดิการก็ไม่มี แต่กลับป่วย โดยเฉลี่ยชายไทยจะมีช่วงชีวิตที่มีปัญหาสุขภาพ 8 ปี หญิงไทยจะมีช่วงชีวิตที่มีปัญหาสุขภาพ 10 ปี ตัวเลขนี้จะยิ่งมากขึ้น หากเราอายุยืนยาวขึ้น และที่น่ากลัวกว่านั้น ก็คือ หากเราต้องเข้าโรงพยาบาลในยามเกษียณ ก็มักจะเป็นคนไข้ในที่ต้องนอนโรงพยาบาลหลายคืน ค่าใช้จ่ายยิ่งสูง และอัตราเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาลอยู่ที่ประมาณ 7% – 8%/ปี แปลว่าประมาณทุก 9 ปี ค่ารักษาพยาบาลจะแพงขึ้น 2 เท่า แปลว่าค่ารักษาในช่วงบั้นปลายชีวิตเรา จะเป็นค่ารักษาพยาบาลที่แพงที่สุดในชีวิตเรา
โชคดีคนไทยทุกคนมีสิทธิรักษาพยาบาลพื้นฐานกับ “บัตรทอง” หรือ “บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกเว้นว่าจะมีสิทธิรักษากับประกันสังคม และสิทธิบัตรข้าราชการอื่นๆ ซึ่งครอบคลุม
- สิทธิการคลอดบุตรไม่จำกัดจำนวนครั้ง
- สิทธิในการตรวจและเข้ารักษาพยาบาล ตลอดจนฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์
- สิทธิได้รับค่าอาหารและห้องสามัญ
- สิทธิในการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ทำฟันปลอม รักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม ใส่เพดานเทียมสำหรับผู้ที่เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่
- ยาและเวชภัณฑ์ตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ
“บัตรทอง” หรือ “บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า” จึงถือว่าเป็นสิทธิพื้นฐานของคนไทย เมื่อเจ็บป่วยจะได้รับการรักษาจากสถานพยาบาล เป็นทางเลือกเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลได้ระดับหนึ่ง