บ่อเกิดแห่งหนี้
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
“หนี้” เป็นปัญหาหนักอกอย่างหนึ่งของคนไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าภาระหนี้ครัวเรือนของไทยดีขึ้น คือ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ลดจาก 78% ในปี 2560 มาอยู่ที่ 77% ในปีนี้ แต่เมื่อดูยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยกลับเพิ่มขึ้น หรือจาก 1.71 แสนล้านบาทในไตรมาส 2/2560 เป็น 12.34 ล้านล้านบาท ในไตรมาส 2/2561 แสดงว่าหนี้ครัวเรือนไม่ได้ลดลงเลย
แล้วภาระหนี้เกิดจากอะไรกัน?
สำหรับเรื่องนี้ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ระบุในการบรรยายเรื่อง “การบริหารจัดการหนี้อย่างเป็นสุข” ว่า บ่อเกิดแห่งหนี้ของคนไทย มาจาก 4 สาเหตุใหญ่ๆ คือ
เป็นหนี้เพราะความจำเป็น
เช่น รายได้ไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายกรณีฉุกเฉิน เช่น กรณีรักษาพยาบาล หรือรายได้ไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือรายได้ไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายตามฤดูกาล เช่น ค่าเทอมลูก ฯลฯ
เป็นหนี้เพราะสานฝัน
เช่น เป็นหนี้บ้าน หนี้รถ เพราะไม่สามารถเก็บเงินสดให้มากพอซื้อบ้าน ซื้อรถได้
เป็นหนี้เพราะอยากได้
เช่น เป็นหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล หนี้นอกระบบ เพราะอยากได้มือถือรุ่นใหม่
เป็นหนี้เพราะไม่รู้
เช่น ค้ำประกันหนี้ให้เพื่อน เพราะไม่รู้ว่าตนเองต้องรับผิดชอบภาระหนี้นั้นด้วย ถ้าคนที่เราค้ำประกันให้เบี้ยวหนี้
จาก 4 สาเหตุนี้ คนไทยส่วนใหญ่เป็นหนี้จากสาเหตุไหนมากที่สุด?
เรื่องนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับ The Nielsen Company ทำวิจัย “โครงการสำรวจศึกษาปัญหาหนี้สินของภาคครัวเรือนไทยและนัยเชิงนโยบาย” สำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของครัวเรือนไทยที่เป็นหนี้และไม่เป็นหนี้ในปี 2560 พบว่า ครัวเรือนที่เป็นหนี้จะใช้จ่ายสูงกว่าครัวเรือนที่ไม่เป็นหนี้อย่างมีนัยสำคัญ (สูงกว่า 20%) โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่ไม่ประจำ เช่น ค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง (สูงกว่า 320%) ค่าเสื้อผ้า (สูงกว่า 470%) และพบว่าครัวเรือนที่เป็นหนี้ใช้รถหรูกว่าครัวเรือนที่ไม่เป็นหนี้ ฯลฯ
ผลวิจัยสะท้อนว่า ครัวเรือนที่เป็นหนี้มีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ไม่ระมัดระวัง จึงพอสรุปได้ว่าปัญหาหนี้ของคนไทยน่าจะเกิดจากสาเหตุข้อ 3 มากที่สุด หรือ เป็นหนี้เพราะอยากได้
แต่ถ้าถามว่า หนี้ไหนเป็นหนี้ที่แย่ที่สุดถ้าเราจะเป็นหนี้?
หลายคนคงตอบเหมือนกันว่า คือ ข้อ 4 หรือเป็นหนี้เพราะไม่รู้ เช่น หนี้จากการค้ำประกัน ที่เราไม่ได้เงินหรือใช้ประโยชน์อะไรเลยจากการเป็นหนี้ แถมอาจทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมาอีก
อย่างกรณีหนึ่งที่เคยพบ คือ หัวหน้าค้ำประกันหนี้ให้ลูกน้องกู้เงินจากบริษัท เพื่อเอาเงินไปชำระหนี้นอกระบบ ปรากฏว่าเมื่อลูกน้องได้เงินเรียบร้อยก็หายไม่มาทำงานอีกเลย สุดท้ายหัวหน้าต้องรับภาระหนี้แทน โดยถูกหักเงินเดือนทุกเดือนเพื่อชำระหนี้ ทำให้ครอบครัวมีเงินไม่พอใช้จ่าย สุดท้ายครอบครัวก็แตก
เมื่อใครๆ ก็รู้ว่า การให้ยืมหรือการค้ำประกัน โอกาสที่ได้รับเงินคืนมีน้อยมาก แต่ทำไมปัญหาการค้ำประกันหนี้จึงยังเกิดขึ้นเสมอ
เหตุที่เป็นแบบนี้ก็เพราะ….
- ไม่รู้ว่าการค้ำประกันหนี้คือ การที่เราเข้าไปรับผิดชอบภาระหนี้ของคนที่เราค้ำประกันด้วย
- วางใจ เพราะเชื่อใจ วางใจในมิตรภาพ ความสัมพันธ์ที่รู้จักกันมานาน ว่าจะไม่ทำให้เราเดือดร้อน
- เกรงใจ ข้อนี้ คือ สาเหตุใหญ่ของการค้ำประกันหนี้ เพราะกลัวเพื่อนว่า แล้งน้ำใจ ไม่ช่วยเพื่อนยามยาก
ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดที่จะไม่ปล่อยให้ตัวเองเป็น “หนี้” จากการค้ำประกันก็คืออย่าค้ำประกันใครเด็ดขาด
สุดท้าย ถ้าไม่อยากเป็นหนี้ท่วมหัวจนเอาตัวไม่รอด นอกจากไม่ค้ำประกันให้คนอื่นแล้ว ขอให้จำคำพูดของกูรูการเงิน Warren Buffett ให้ขึ้นใจว่า “หากคุณซื้อแต่ของที่ไม่จำเป็น ไม่นานคุณจะต้องขายของที่จำเป็นเพื่อเอามาใช้จ่าย”