เรื่องน่ารู้...การคืนรถ
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
จากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังมีผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างและรุนแรงขึ้นไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจบริการ โรงแรม ร้านอาหาร ห้าง ฯลฯ ทำให้หลายคนรายได้หายไปหรือลดลง และมีสัญญาณว่าลูกหนี้รายย่อยมีความยากลำบากในการชำระหนี้มากขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการทางการเงิน ผ่านสมาคมและชมรมต่าง ๆ ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3
ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้เช่าซื้อรถ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ฯลฯ คนที่เป็นหนี้ควรรีบศึกษารายละเอียดนโยบายนี้ และติดต่อสถาบันการเงินเพื่อขอความช่วยเหลือ และต้องศึกษากฎหมายเกี่ยวกับหนี้ด้วยเพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้องและเหมาะสม
แต่มีมาตรการหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การคืนรถกรณีหนี้เช่าซื้อรถ ซึ่งมี 2 แบบ คือ คืนรถขณะที่เป็นหนี้ดีและ คืนรถขณะที่เป็นหนี้เสีย
คืนรถขณะที่เป็นหนี้ดี
ผู้เช่าซื้อรถเป็นฝ่ายติดต่อเพื่อคืนรถให้ไฟแนนซ์เองก่อนที่จะผิดนัดชำระหนี้ครบ 3 งวด
- ไฟแนนซ์ยอมรับ และส่งคืนรถ
หากไฟแนนซ์ยอมรับรถคืนถือว่าสัญญาเช่าซื้อระงับสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา ๕๗๓ บัญญัติว่า “มาตรา ๕๗๓ ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง” คือ เมื่อกระบวนการคืนรถเสร็จสิ้น จะถือว่าสัญญาเช่าซื้อนั้นสิ้นสุดลงแล้วเมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน โดยที่ผู้เช่าซื้อไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา หรือ ไฟแนนซ์ไม่ได้มายึดรถยนต์กลับไปเอง
- รับผิดชอบในส่วนของตน
หากไฟแนนซ์นำรถยนต์ไปขายทอดตลาดได้เงินไม่เพียงพอกับยอดหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ ค่าเสียหายส่วนนี้ (ค่าขาดราคา) ผู้เช่าซื้อไม่ต้องรับผิดชอบทั้งสิ้น จะรับผิดก็แค่ค่าเช่าซื้อค้างชำระแต่ละงวดที่ยังไม่ได้ชำระไฟแนนซ์ก่อนวันที่จะนำรถยนต์ส่งมอบคืนเท่านั้น แปลว่าผู้เช่าซื้อรับผิดชอบแค่ค่าเช่าซื้อที่ยังค้างอยู่ก่อนส่งรถคืนเท่านั้น
การคืนรถต้องมีหนังสือบอกกล่าวพร้อมกับส่งมอบรถยนต์คืนไฟแนนซ์ด้วย การที่ส่งมอบรถยนต์คืนอย่างเดียวไม่ถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อ
ตัวอย่างคำพิพากษาที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14324/2558
จำเลยเป็นฝ่ายเริ่มต้นติดต่อกับโจทก์เพื่อคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อ แสดงให้เห็นจุดประสงค์ของจำเลยที่ต้องการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น เมื่อโจทก์ได้รับการติดต่อก็ตกลงและนัดหมายรับรถยนต์ที่เช่าซื้อไปคืนโดยมอบหมายให้ ส. ตัวแทนโจทก์ การที่จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่ ส. จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วยการส่งมอบทรัพย์คืนแก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันนับแต่วันดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง
แต่แม้จะมีกฎหมายคุ้มครอง โอกาสที่ไฟแนนซ์จะยอมรับรถคืนแล้วบอกเลิกสัญญาจบกันไปเป็นไปได้น้อยมาก ผู้เช่าซื้ออาจต้องเตรียมตัวปรึกษาทนายเพื่อเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาล
คืนรถขณะที่เป็นหนี้เสีย
กรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดค้างชำระ 3 งวดติดกัน และไฟแนนซ์ได้มีการบอกกล่าวเป็นหนังสือทวงถามหนี้ให้ผู้เช่าซื้อชำระค่างวดที่ยังคงค้างชำระภายในระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถาม
- ไม่ชำระหนี้ และไฟแนนซ์บอกเลิกสัญญา
ไฟแนนซ์สามารถบอกเลิกสัญญาแล้ว ถ้าผู้ซื้อไม่ชำระภายในระยะเวลาที่กำหนด
- รับผิดชอบทั้งหมด
ไม่ว่าจะเอารถไปคืนไฟแนนซ์เองหรือปล่อยให้ไฟแนนซ์มายึด ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชอบค่าขาดราคาทุกกรณี
ตัวอย่างเช่น ผู้เช่าซื้อค้างชำระ 3 งวดติดต่อกัน และมีหนี้คงค้างอยู่กับไฟแนนซ์ 500,000 บาท ไฟแนนซ์ยึดรถไปขายทอดตลาดได้ 300,000 บาท จะเหลือค่าขาดราคาเป็นหนี้ที่ผู้เช่าซื้อต้องจ่ายอีก 200,000 บาท
สรุป เมื่อรู้สึกว่าจะผ่อนหนี้เช่าซื้อไม่ไหว ให้รีบดำเนินแก้ไข อย่าผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งสามารถดำเนินการได้หลายวิธีนอกเหนือจากการคืนรถ เช่น ปรึกษาไฟแนนซ์ตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นลดค่างวด หรือ ขยายเวลาผ่อน หรือ พักชำระค่างวด หรือรวมหนี้กับสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือหากพอจะมีเงิน ก็อาจเลือกชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียวเพื่อปิดบัญชี วิธีนี้ผู้เช่าซื้อจะได้ลดดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระไม่น้อยกว่า 50% ตามประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ) ว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลบังคับใช้ 1 ก.ค. 2561