×

Wealth Me Up ข่าวสั้น ทันเศรษฐกิจ

ผลสำรวจชี้ แรงงานในระบบมัก ‘เกษียณทันที’ เมื่อมีสิทธิ์รับบำนาญ

195

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย

Youtube | Facebook | TikTokInstagramLine 

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธิฏิรัตน์ พิมลศรี ผู้อำนวยการหลักสูตรสถิติประยุกต์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) หยิบยกประเด็นที่น่าสนใจจากรายงาน AGING WELL IN ASIA: ASIAN DEVELOPMENT POLICY REPORT เช่น การทำงานและการเกษียณอายุของผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

 

จากรายงานฉบับนี้ พบว่าในปี 2021 ผู้สูงอายุชายที่อายุ 65 ปีขึ้นไป มีผู้ที่ยังอยู่ในกำลังแรงงานเป็นสัดส่วนสูงถึง 32.0% และสำหรับผู้หญิงอยู่ที่ 15.2% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าตัวเลขโดยเฉลี่ยของ OECD (ผู้ชาย 20.7% ผู้หญิง 11.1%)

 

โดยที่สัดส่วนของการอยู่ในกำลังแรงงานของผู้สูงอายุชายมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2000 ในขณะที่สัดส่วนของผู้สูงอายุหญิงที่ยังทำงานอยู่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน

 

สำหรับอายุเกษียณงานที่แท้จริงจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 51 ถึง 63 ปี รูปแบบการทำงานและการเกษียณอายุของผู้สูงอายุก็แตกต่างกันมาก ทั้งแรงงานที่อยู่ในระบบและนอกระบบ แรงงานในพื้นที่ชนบทและเมืองในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งพบว่าผู้สูงอายุที่ยังทำงานอยู่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ มีสัดส่วนตั้งแต่ 64% ถึง 99%

 

แรงงานในระบบมักเกษียณงานทันที เมื่อมีสิทธิ์รับบำนาญ

 

แรงงานในระบบมักจะเกษียณงานทันทีหรือเกษียณงานก่อนกำหนดเมื่อตนนั้นมีสิทธิ์รับบำนาญ แม้ว่าคนเหล่านี้จะมีความสามารถในการทำงานได้และยังมีสุขภาพที่ดีอยู่ก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในรายงานนี้

 

โดยผู้ชายในช่วงอายุ 55-69 ปี สามารถทำงานต่อไปได้อีกระยะเวลาหนึ่ง โดยอิงจากสุขภาพของพวกเขาเอง โดยประมาณจะอยู่ที่ 0.3 ถึง 2.2 ปี (หรือ 4–26 เดือน) จากการศึกษาใน 7 จาก 8 ประเทศในเอเชียพบว่ามากกว่า 80% ของผู้ชายอายุ 60-64 ปี มีสุขภาพดีเพียงพอที่จะทำงาน แต่ในกลุ่มแรงงานที่มีศักยภาพนี้กลับพบว่า 10%-23% ไม่ทำงานแล้ว ซึ่งสามารถคิดเป็นผลิตภาพ (Productivity) ส่วนเพิ่มที่ได้รับจากความสามารถในการทำงานที่ยังไม่ได้ใช้ในบรรดาผู้สูงอายุนี้ได้ถึงประมาณ 1.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในประเทศที่ศึกษา ซึ่งผลการศึกษานี้เป็นที่น่าสนใจมากต่อการกำหนดนโยบายของภาครัฐ

 

มาตรการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสูงวัย

 

นอกจากนั้นยังมีการให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจดังนี้ นโยบายต่างๆ เกี่ยวกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่เป็นกำลังแรงงานนอกระบบ เช่น การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและการฝึกอบรมทักษะ และให้เข้าถึงการคุ้มครองแรงงานพื้นฐานซึ่งควรรวมถึงการประกันอุบัติเหตุและเจ็บป่วย เบี้ยเลี้ยงทุพพลภาพ บำนาญ และโปรแกรมที่ส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณอายุ

 

รวมถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและนโยบายแรงงานเชิงรุกอื่นๆ รวมถึงความรู้ดิจิทัล เพื่อทำให้ผู้สูงอายุยังคงมีผลิตภาพและมีงานทำทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ

 

รัฐบาลสามารถเสนอมาตรการจูงใจให้นายจ้างว่าจ้างและคงไว้ซึ่งแรงงานสูงอายุ เพราะนโยบายที่ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุสามารถลดผลกระทบทางเศรษฐกิจมหภาคบางประการจากสังคมสูงวัยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดลงของกำลังแรงงานและการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านประกันสังคม

 

มาตรการหนุนแรงงานสูงวัย ขยายอายุงานแทนเกษียณงาน

 

นอกจากนี้การเปลี่ยนสถานภาพจากการทำงานไปสู่การเกษียณงานควรมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น การทำงานแบบพาร์ทไทม์ ช่วยให้แรงงานสูงอายุขยายอายุงานแทนที่จะเกษียณงาน แต่จะต้องมั่นใจว่าระบบภาษีและบำนาญจะไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้สูงอายุที่ขยายอายุงาน การจ่ายค่าตอบแทนตามอายุงานซึ่งแพร่หลายในหลายประเทศในเอเชียควรได้รับการปฏิรูปเพื่อทำให้การคงไว้ซึ่งการจ้างงานและการว่าจ้างงานสำหรับแรงงานสูงอายุมีต้นทุนที่ผู้ว่าจ้างสามารถรับได้

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats